สายพันธุ์ กาแฟป่า กับการแก้วิกฤตกาแฟ 

ทั่วโลกมีการปลูกกาแฟในไร่และพื้นที่ปลูกซึ่งเป็นที่ดินมากกว่าหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งการปลูกกาแฟจำเป็นต้องมีระบบการจัดการไร่อย่างระมัดระวังและมีการวางแผนมาอย่างดี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทางไร่กาแฟหรือทางผู้ผลิตกาแฟสามารถที่จะทำกำไรจากผลผลิตนั้นได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเพาะปลูกกาแฟในไร่หรือในที่ดินแล้ว ยังมีกาแฟที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีมานานกว่าหลายศตวรรษแล้ว แต่ก็ยังมีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่มี กาแฟป่า หรือกาแฟที่เติบโตในป่ามานับพันปี เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกในเรื่องของการปลูกกาแฟป่า นั่นคือประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งอย่างที่เรารู้กัน สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดของกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า 

ยังคงมีกา แฟป่า ที่เติบโตอยู่ในเอธิโอเปียอยู่มากมายหลากหลายพันในปัจจุบัน (เช่นเดียวกับบางประเทศในแอฟริกา ก็มีกาแฟป่าให้เราได้เห็นเหมือนกัน แม้ว่าจะมีปริมาณน้อยกว่ามาก ๆ ก็ตาม) คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ กาแฟป่านี้มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกาแฟในวงกว้างเพียงใด 

แม้ว่ากาแฟที่ปลูกในธรรมชาติ หรือกาแฟที่ปลูกในป่า ในที่นี้จะหมายถึงกาแฟที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์เข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิต จะมีมูลค่าทางการค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำความเข้าใจองค์ประกอบทางพันธุกรรมของต้นกาแฟป่า ซึ่งเราสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงความยืดหยุ่นของพันธุ์กาแฟในวงกว้างมากขึ้นได้ 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อน ในบทความนี้ (และบทความต่อ ๆ ไป) หากจะกล่าวถึงกาแฟป่า รวมถึงกาแฟป่าที่ผู้คนนำมาตีกรอบพื้นที่ แล้วนำผลผลิตจากส่วนนั้นมาใช้ เราจะใช้คำว่า “ไร่กาแฟป่า” 

ไร่กาแฟป่า

bean belt

ในทุกวันนี้ กาแฟป่าจะเติบโตขึ้นตามธรรมชาติในหลายประเทศ ตามแผนพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า Bean Belt (แถบพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรที่สามารถปลูกกาแฟได้) รวมถึงในบางประเทศของแอฟริกาบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร มาดากัสการ์ และบางส่วนในทวีปเอเชียด้วย 

กาแฟป่าเป็นกาแฟที่ขาดการแทรกแซงโดยมนุษย์ในการเพาะปลูกและการเจริญเติบโต แม้แต่ในบางประเทศที่นิยมนำกาแฟป่ามาใช้งาน ก็จะปล่อยให้ผลเชอรี่ได้เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม แม้ว่ากาแฟป่าส่วนใหญ่จะเป็นกาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้า แต่ก็ยังคงมีกาแฟสายพันธุ์อื่น ๆ มากกว่า 120 สายพันธุ์ ทั้งที่เรารู้จักและยังคงต้องสืบหาข้อมูลกันต่อ 

หากจะทำความเข้าใจเรื่องของไร่กาแฟป่า จะขอยกไร่กาแฟป่าในแอฟริกาใต้ ที่ได้มีการทำไร่กาแฟป่าเล็ก ๆ ที่อยู่บนความสูง 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีชื่อว่า Shamba Nati เป็นคำในภาษา Swahili แปลว่า ‘farm’ ได้มีการปลูกกาแฟสายพันธุ์ Racemosa ซึ่งเติบโตตามแนวชายฝั่งของแอฟริกาใต้ โมซัมบิก และซิมบับเว 

ทำความรู้จักกาแฟสายพันธุ์ Racemosa ซึ่งน่าจะเป็นกาแฟสายพันธุ์ที่เราไม่คุ้นเคยกัน กาแฟสายพันธุ์นี้เป็นกาแฟสายพันธุ์ที่เติบโตในป่า ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม ปัจจุบันได้มีนักวิจัยทำการวิจัย และปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้จำนวนเล็กน้อยตามแนวชายฝั่งใกล้กับชายแดนโมซัมบิกเพียงเท่านั้น 

โดยทางไร่กาแฟป่านี้ได้ทำการเก็บต้นกล้าของ Racemosa จากบริเวณป่าพื้นเมืองเพื่อนำมาปลูกในพื้นที่ของตน กาแฟสายพันธุ์นี้จะแตกต่างจากกาแฟอาราบิก้ามาก เมล็ดจะมีขนาดเล็ก และอัตราการเจริญเติบโตจะช้ากว่ามาก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ต้นของ Racemosa จะออกดอกทั้งต้นเป็นสีขาว และจะทำการเก็บเกี่ยวได้ในช่วงประมาณเดือนมกราคม เพิ่งจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ผลจะสุก และเนื่องจากการปลูกจำนวนที่ค่อนข้างน้อย จึงใช้เวลาการเก็บเกี่ยวไม่นาน อยู่ที่ระหว่าง 5-6 สัปดาห์เท่านั้น 

แต่กาแฟสายพันธุ์นี้คนข้างจะประเมินคุณภาพและทำการคัปปิ้งยาก กาแฟไม่มีความสม่ำเสมอเลยเมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องจากการผลิตเป็นล็อตเล็ก ๆ และปัจจัยหลายอย่างควบคุมได้ยาก แต่ก็มีข้อดีอยู่คือ ทางทีมนักวิจัยสามารถที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟสายพันธุ์นี้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่โดยทั่วไปแล้ว กาแฟสายพันธุ์ Racemosa จะมีโน้ตของเครื่องเทศมากมายหลากหลายชนิด อย่างกานพลู อบเชย และชะเอมเทศ ทางนักวิจัยยังสังเกตเห็นรสชาติอื่น ๆ อย่างมิ้นต์และองุ่นด้วย ในปีนี้เอง ทางทีมนักวิจัยได้ทำการโพรเซสแบบ anaerobic ดู ผลปรากฏว่าได้รสชาติที่แตกต่างออกไป

ประเด็นเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของกาแฟป่า 

เนื่องจาก volume การผลิตที่น้อยกว่ากาแฟอาราบิก้ามาก ๆ จึงทำให้กาแฟ Racemosa มีราคาที่แพงกว่าอาราบิก้ามากตามไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยการปลูกที่ค่อนข้างยากก็เป็นผล กาแฟสายพันธุ์นี้ต้องการปริมาณน้ำฝนมาก อยู่ที่ประมาณ 500-600 มิลลิลิตรต่อปี และยังต้องการอากาศที่ร้อนกว่ากาแฟอาราบิก้าด้วย ถึงแม้ว่าจะสวนทางกับกาแฟสายพันธุ์อื่น อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอาจจะเป็นผลดีต่อ Racemosa แต่ต้นเชอรี่แต่ละต้นให้ผลผลิตเพียงแค่ 200 กรัมต่อต้นเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เชอรี่ยังมีขนาดเล็ก และเติบโตในอัตราที่ช้ากว่ามาก 

coffea racemosa

ด้วยผลผลิตที่ค่อนข้างน้อยของกาแฟสายพันธุ์นี้ ทางทีมวิจัยจึงได้ทำการสรรหาเมล็ดกาแฟใหม่ ๆ โดยตอนนี้ได้เป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ Zanguebariae ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตในป่าทางตอนใต้ของแทนซาเนีย โมซัมบิก และซิมบับเว ทางทีมได้ส่งตัวอย่างบางส่วนไปที่ Kew Gardens เพื่อทำการทดสอบทางพันธุกรรม และคาดหวังว่าจะเริ่มต้นการเพาะปลูกในหลอดขนาดเล็กในอนาคตอันใกล้ 

สิ่งที่ทีมวิจัยต้องการก็คือ การส่งเมล็ดกาแฟสายพันธุ์นี้ไปยังแหล่งเพาะเมล็ดทั่วโลก และต้องการจะขยายพันธุ์ต้นกล้า แพร่พันธุ์เมล็ดพันธุ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะปัจจุบันที่นักวิจัยทีมนี้ เป็นเพียงทีมเดียวที่พยายามจะปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ โดยมุ่งหมายที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์ 

มีผู้ปลูกกาแฟจาก Café Inmaculad ในโคลัมเบีย เขาคือ Jorge Castro โดยเขาได้ทำการปลูกกาแฟอาราบิก้า specialty หายากมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Sudan Rume, eugenioides, Gesha และ Laurina เราจะมาลองดูกาแฟเหล่านี้กัน

Jorge Castro ได้กล่าวถึงกาแฟ Eugenioides ว่าโดยปกติแล้วกาแฟพันธุ์นี้ เป็นกาแฟที่ได้คะแนนสูงอยู่แล้ว ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90-92 มีบางช่วงที่คะแนนลงไปถึง 82-85 ปัญหาที่พบเจออีกอย่างก็คือ ผลผลิตที่ให้ก็ถือว่าต่ำมาก 

Laurina ก็เป็นกาแฟที่มีแนวโน้มจะได้คะแนนต่ำ เพราะมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าอาราบิก้าพันธุ์อื่นอยู่ โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 86-87 คะแนน ถึงแม้ว่าตัวกาแฟเองจะมีคุณสมบัติที่น่าจะมีคุณภาพสูงได้ อย่างเมล็ดกาแฟมีลักษณะผอมเรียว กาแฟมีความเป็นกรดที่เด่นชัด แต่ด้วยระดับคาเฟอีนที่ต่ำนี้เอง จึงทำให้สามารถไปยับยั้งกระบวนการเจริญเติบโตได้ และส่งผลในอีกหลายเรื่องด้วย 

นอกจากนี้ยังมีกาแฟสายพันธุ์ rebecca ซึ่งส่วนใหญ่แล้วปลูกในบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นกาแฟที่ไม่ได้ปลูกในระดับสากล ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยรสชาติที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดส่วนใหญ่ หากเทียบกับกาแฟอย่างอาราบิก้าหลายพันธุ์ 

การทำไร่กาแฟป่า กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของอุตสาหกรรมกาแฟโดยรวม มีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2050 ประเทศผู้ผลิตกาแฟ 4 ใน 5 อันดับแรก (บราซิล เวียดนาม โคลัมเบีย และอินโดนีเซีย) จะมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟลดลง รวมถึงอัตราการผลิตกาแฟลดลงด้วย 

ด้วยสิ่งนี้เองทำให้เกิดข้อกังวลหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่อัตราการบริโภคกาแฟทั่วโลกยังคงเติบโตขึ้น กลับกันในกระบวนการการผลิตต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายประการ ยิ่งไปกว่านั้น International Union for the Conservation of Nature’s Red List ยังระบุว่า ประมาณกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์กาแฟทั้งหมดที่ค้นพบแล้ว และจดทะเบียนอย่างถูกต้อง จะมีความเสี่ยงสูญพันธุ์ ทั้งนี้รวมถึงกาแฟ 13 สายพันธุ์ที่จัดอยู่ในประเภทกลุ่มเสี่ยง “กาแฟใกล้สูญพันธุ์” ด้วย 

จากการนำกาแฟป่ามาศึกษา นักวิจัยสามารถสร้างต้นต่อเพื่อที่จะสามารถต่อกิ่งกาแฟข้ามสายพันธุ์ได้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเมล็ดกาแฟป่าอเมลักษณะเฉพาะโดยกำเนิด คือการสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้มาก ซึ่งอาจทำให้กาแฟป่ามีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศมากขึ้นด้วย 

ในขณะนี้ได้มีนักวิจัยได้ทำการศึกษา และให้ความสนใจเกี่ยวกับกาแฟสายพันธุ์ racemosa เพื่อที่จะสามารถปรับ volume ผลผลิตที่ได้ให้มีมากขึ้น เพื่อรองรับการผลิตกาแฟในอนาคต และอยากที่จะผลักดันกาแฟสายพันธุ์นี้ เนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพอากาศ และเติบโตได้ดีในอากาศที่ร้อนกว่ากาแฟอาราบิก้า นอกจากนี้ยังมีอีกสายพันธุ์คือ stenophylla (เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตะวันตก) เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับปรุงความหลากหลายทางพันธุกรรมในกาแฟอาราบิก้าใหม่ใหม่ได้ 

ความท้าทายในอนาคต 

แม้ว่ากาแฟป่าบางสายพันธุ์จะมีความยืดหยุ่นสูงเกี่ยวกับสภาพอากาศ แต่ก็ยังคงมีปัญหา และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากกาแฟป่าเหล่านี้ไม่ได้ถูกเพราะพันเพื่อให้มีความต้านทานต่อโรค ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือกาแฟพันธุ์ Laurina เป็นกาแฟที่มีความไวต่อการเกิดโรคสนิมในใบกาแฟมาก และสามารถควบคุมไม่ให้เกิดได้ยาก ไม่ใช่เพียงแค่กาแฟพันธุ์นี้ กาแฟอย่าง Sudan Rume และ Gesha ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน 

Eugenioides ถึงจะค่อนข้างมีความต้านทานต่อโรค แต่ก็อาจเกิดปัญหาผลเชอรี่ร่วงหล่นจากกิ่งก่อนที่ควรได้ โดยเฉพาะหากเจอกับลมแรง นั่นหมายความว่าเกษตรกรอาจต้องสูญเสียผลผลิตจำนวนมากไป ผลที่ได้คือกำไร และผลตอบแทนจะลดลงไปด้วย 

ความท้าทายอีกประการหนึ่งที่บรรดาผู้ผลิตต้องเผชิญกับการนำกาแฟป่ามาปลูกคือ เรื่องของผลผลิตเอง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว กาแฟป่าเหล่านี้จะให้ผลผลิตที่ต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นหากกล่าวถึงเรื่องของความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ กาแฟป่า หรือการทำไร่กาแฟป่า จึงมีความยั่งยืนน้อยกว่าการทำไร่กาแฟที่ปลูกในพื้นที่ไร่มาก 

Geisha variety

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการยากที่เกษตรกรทั่วไปจะสามารถนำกาแฟป่าเหล่านี้มาปลูกได้ ในที่นี้หมายถึงกาแฟสายพันธุ์อื่น (ไม่ใช่กาแฟป่าอาราบิก้า) และขายกันอย่างจริงจังในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับตลาดกาแฟท้องถิ่น และยิ่งไปกว่านั้น หากมองในภาพใหญ่เอง ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับรสชาติของกาแฟสายพันธุ์ในเชิงพาณิชย์มากกว่า อย่างกาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้า

ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในการวิจัย นักวิจัยสมัยใหม่ได้หยิบเอากาแฟสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นกาแฟป่าเหล่านี้มาวิจัยกันมาก แต่หากดูกันจริง ๆ ก็ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกาแฟสายพันธุ์กาแฟป่าทั้งหมดที่มีอยู่ในมือตอนนี้ อย่างหากกล่าวชื่อของกาแฟมาสองสามสายพันธุ์ น้อยคนน่าจะรู้จัก ยกตัวอย่างเช่น Coffea carrisoi, Coffea kapakata และ Coffea melanocarpa นอกจากจะมีความรู้น้อยแล้ว กาแฟเหล่านี้ยังเติบโตในเขตป่าที่เข้าถึงยาก ทำให้ได้ไม้พันธุ์มายาก 

และก็ยังไม่มีความรู้อย่างแน่ชัดว่า กาแฟป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพพอที่จะสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ เป็นการยากที่จะนำกาแฟเหล่านี้มาประเมินคุณภาพและรสชาติ สุดท้ายแล้วก็ยังคงต้องมีการศึกษาและการวิจัยเพิ่มเติม 

แต่ก็คาดการณ์ว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นกาแฟสายพันธุ์อื่น ๆ เหล่านี้ ผ่านตาในอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น เพราะอย่างน้อยผู้บริโภค รวมทั้งผู้ผลิตต้องการความหลากหลายในกาแฟที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงและศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาแฟสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบแล้ว แต่ยังคงไม่ได้ถูกนำมาใช้กัน เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น ต่อไปก็เป็นในเรื่องของแนวทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อว่าไม่ได้ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการหาความรู้ในกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นกาแฟป่าเหล่านี้ 

ด้วยวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของการผลิตกาแฟ ทั้งอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้กาแฟแต่ละสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น การนำกาแฟป่าเหล่านี้มาใช้ก็อาจเป็นหนทางหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุศาสตร์ เรื่องของดิน และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย 

ในอนาคตเราจะได้เห็นอุตสาหกรรมกาแฟเปลี่ยนแปลงไปมาก เพื่อให้ทันกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นผู้ผลิตจำนวนมากหันมาใช้กาแฟสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีความยืดหยุ่นสูงกันมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาออกมาอย่างเพียงพอหรือไม่ แต่หากเกิดวิกฤตจริง สุดท้ายแล้วก็ต้องลองเสี่ยงดวงดู