ประเทศเอธิโอเปียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเก่าแก่ที่สุดในโลก และมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และตั้งอยู่บริเวณทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ประเทศซึ่งได้สมญาว่า “Horn of Africa” ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของประเทศนี้ ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับเอธิโอเปีย คือเรื่องของการค้นพบกาแฟในประเทศแห่งนี้ด้วย

เอธิโอเปีย เรื่องเล่าและตำนานแห่ง กาแฟเอธิโอเปีย
ในดินแดนตะวันออกแห่งทวีปแอฟริกา Abyssenia ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศเอธิโอเปีย ถือเป็นแหล่งกำเนิดกาแฟแห่งแรกของโลก เรื่องราวนี้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เอธิโอเปียโบราณ เริ่มต้นขึ้นประมาณ ค.ศ. 850 ได้มีชายเลี้ยงแพะคนหนึ่งชื่อ Kaldi ว่ากันว่าเขาผู้นี้เป็นผู้ค้นพบพืชชนิดใหม่ เป็นผลเชอร์รีวิเศษที่กำลังจะเปลี่ยนโลก เมื่อค้นพบผลเชอร์รีวิเศษนี้แล้ว ตามคำแนะนำโดยภรรยาของเขา เขาจึงนำผลเชอร์รีชนิดนี้ไปให้พระที่อารามใกล้กับทะเลสาบ Tana
เมื่อเขามาถึงอารามแห่งนี้ คนเลี้ยงแพะได้ยื่นผลเชอร์รีชนิดนี้ให้กับพระผู้หนึ่ง ก่อนที่เขาจะดีใจและปลาบปลื้มกับการค้นพบครั้งใหม่ของเขานี้ พระผู้นั้นได้ทำการโยนผลเชอร์รีชนิดนี้เข้าไปในกองไฟ เพราะเชื่อว่าผลละไม้ชนิดใหม่ที่ค้นพบนี้ดูไม่น่าไว้วางใจ และเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

ภายในอารามแห่งนั้นอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของกาแฟคั่ว ไม่ใช่แค่ในบริเวณอารามนั้น แต่กลิ่นหอมของกาแฟนี้ยังฟุ้งกระจายไปทั่ว นั่นทำให้พระคนอื่นตามหาที่มาของกลิ่นหอมนี้ เมื่อค้นพบที่มาของกลิ่น พวกเขาได้ทำการนำเมล็ดกาแฟนั้นออกมาจากกองไฟและทำการบดให้ละเอียดเพื่อดับความร้อน หลังจากนั้นก็ทำการเทน้ำร้อนราดบนผงนั่น และไม่น่าเชื่อว่า มันจะออกมาเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอม พระเหล่านั้นได้ทำการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ตลอดทั้งคืน และก็ค้นพบฤทธิ์ของมัน ที่ทำให้พวกเขาตื่นตัวในเวลากลางคืน พร้อมที่จะอธิษฐานและสวดภาวนา ผลเชอร์รีนี้ก็ได้สมญาว่า “ผลเชอร์รีปิศาจ” และแล้วไม่นาน เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับเชอร์รีชนิดใหม่นี้ก็ได้แพร่กระจายไปสู่บุคคลทั่วไป และแพร่กระจายไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว
กระจายสู่ทั่วโลก
กาแฟได้ออกสู่สายตาชาวโลกในโลกแห่งการค้าในช่วงปี 1415 เมื่อ Mufti แห่ง Aden ได้ไปเยือนที่เอธิโอเปียและได้มีโอกาสชิมเครื่องดื่มของที่นั่น เขาได้กล่าวกับผู้คนบริเวณนั้นว่า เครื่องดื่มชนิดนี้สามารถที่จะรักษาเขาจากความเหนื่อยล้า คำกล่าวของเขานี้ได้แพร่กระจายไปสู่ผู้คนอย่างรวดเร็วราวกับไฟป่า ไม่นานกาแฟก็เป็นที่รู้จักในท่าเรือของเยเมนและเมกกะ และต่อจากนั้นไม่นานก็แพร่กระจายไปสู่ทุกที่ทั่วโลก
นักภาษาศาสตร์ได้มีการระบุว่า ได้มีการกล่าวถึงเครื่องดื่มชนิดหนึ่งในเอกสารที่ถูกบันทึกไว้ของอาหรับ ซึ่งมี อายุย้อนไปถึงปี 900 โดยในเอกสารได้มีการกล่าวถึงเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “buna” ในภาษาท้องถิ่นของเอธิโอเปียตอนนั้น คือภาษา Oromiyan ซึ่งได้มีการบอกว่าเครื่องดื่มชนิดนี้มีการบริโภคเป็นปกติทั่วประเทศ
อุตสาหกรรมกาแฟในปัจจุบัน

โดยปกติแล้วกาแฟอาราบิก้าจะเติบโตขึ้นตามธรรมชาติบนเนินเขาในเขต Kaffa และ Buno จึงมีฟาร์มกาแฟและไร่กาแฟจำนวนมากอยู่ในบริเวณนั้น ปัจจุบัน ได้มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟชาวเอธิโอเปียถึงประมาณ 98% ที่มีฟาร์มหรือไร่กาแฟขนาดเล็ก เนื่องจากยังคงปลูกกาแฟในป่าอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเกษตรกรเหล่านี้จะเก็บเกี่ยวพืชผล และมีระบบในการจัดการกับกาแฟอยู่ด้วยกัน 4 ระบบได้แก่ ระบบกาแฟป่า กาแฟกึ่งป่า สวนกาแฟ และไร่กาแฟ
แต่ถึงแม้ว่าเกษตรกรท้องถิ่นจะต้องพบเจอกับปัญหาที่ยากลำบากต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ปลูกกาแฟ หรืออื่น ๆ แต่ทั้งประเทศก็สามารถผลิตกาแฟได้อย่างต่อเนื่องปริมาณอยู่ที่มากกว่า 2 แสนตันต่อปี และเฉพาะในอุตสาหกรรมกาแฟนี้ ก็ได้มีการจ้างงานคนกว่า 15 ล้านคน ประเทศเอธิโอเปียยังอยู่ในอันดับ 5 ของผู้ผลิตกาแฟชั้นนำทั่วโลกอีกด้วย
กาแฟเอธิโอเปีย สู่กาแฟทั่วโลก
ในปัจจุบันนี้ ได้มีกาแฟสายพันธุ์ที่สำคัญหลายต่อหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ดัง ๆ อย่าง Gesha ที่มีต้นกำเนิดที่ประเทศเอธิโอเปียนี้ได้แพร่กระจายออกไปสู่ทั่วโลก โดยกาแฟสายพันธุ์เอธิโอเปียนี้ ไม่ว่าจะนำไปปลูกที่ไหนก็ยังคงเป็นกาแฟเอธิโอเปีย แต่ก็ได้สภาพภูมิประเทศ อากาศ หรือปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้กาแฟเหล่านั้นมีเอกลักษณ์ และมีความงดงามในแบบของตัวเอง