Coffee Variety: Cenicafé 1 ก้าวสู่ยุคใหม่แห่ง กาแฟโคลอมเบีย

หากเราจะคุยกันเรื่องของ กาแฟโคลอมเบีย หลายคนน่าจะนึกถึงกาแฟพันธุ์ Caturra หรือ Castillo ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งกาแฟแต่ละพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันนั้น แน่นอนว่าก็จะให้รสชาติที่แตกต่างกันไปด้วย นอกจากรสชาติที่แตกต่างกัน ลักษณะของการคั่ว รวมถึงคุณสมบัติอื่นอีกหลากหลายก็มีความแตกต่างกันไปด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาพันธุ์กาแฟใหม่ ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำให้สามารถมีภูมิต้านทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช และสภาพอากาศที่โหดร้ายขึ้นด้วย นั่นทำให้ปัจจุบัน ประเทศโคลอมเบียได้ให้กำเนิดกาแฟพันธุ์ Cenicafé 1 ซึ่งเป็นกาแฟพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่มีความน่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก

วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก Cenicafé 1 กาแฟพันธุ์ใหม่ ที่เป็นเหมือนนิมิตหมายใหม่ของกาแฟโคลอมเบียกัน เหตุใดจึงมีการพัฒนาพันธุ์กาแฟขึ้นมาใหม่ แล้วกาแฟไม่นี้ดี หรือมีความแตกต่างจากเดิมที่มีอยู่มากในท้องตลาดอย่างไร วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

Typica variety

เหตุใด จึงต้องทำการสร้างกาแฟพันธุ์ใหม่

เหตุผลของการสร้างกาแฟพันธุ์ใหม่นั้น จะขอยกคำกล่าวของ World Coffee Research (WCR) ที่บอกไปว่า กาแฟพันธุ์ใหม่ในยุคปัจจุบันนั้น นับว่ามีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น โรคภัยในกาแฟใหม่ ๆ และการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชทั่วโลก

การที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งส่วนใหญ่อุณหภูมิจะสูงขึ้น ทำให้ในแต่ละพื้นที่มีอากาศที่อุ่นขึ้นตามไปด้วย นั่นเป็นเหตุผลให้ พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟอาราบิก้านั้นลดลง และด้วยอุณหภูมิในฟาร์มที่มีความสูงขึ้น พันธุ์กาแฟบางชนิด ที่แต่เดิมอาจจะปลูกในแหล่งเดิมได้ ต้องการอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำเพื่อที่จะเติบโตได้ดี ต้นกาแฟเหล่านี้จะเติบโตในอัตราที่ช้าลง หรืออาจจะเติบโตยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาแมลงศัตรูพืช ที่แต่เดิมไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้บนพื้นที่สูง เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้นตาม ทำให้แมลงศัตรูพืชเหล่านั้นสามารถที่จะเจริญเติบโตได้ การที่ต้นไม้อ่อนแอลง กลับกันศัตรูพืชกลับแข็งแกร่งขึ้น สิ่งนี้เองเป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างมีความอันตราย

WCR ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปริมาณพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่สามารถปลูกได้ และเติบโตได้ดีในธรรมชาติ หรือแม้แต่ในฟาร์มลดลง ดังนั้นกาแฟที่เกิดขึ้นใหม่ หรือแม้แต่ที่มีอยู่ปัจจุบัน ก็จำเป็นที่จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากเพื่อต่อสู้กับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องตามให้ทันความต้องการของตลาดด้วย แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาที่มีมากมายเหล่านี้ ได้ขยายออกไปเกินกว่าความสามารถของผู้ผลิตจะทำได้แล้ว เราได้เห็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ ที่สูญหายไปในทุกปี พืชผลทางการเกษตร ที่สูญเสียไปในทุกปีเช่นเดียวกัน มันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ และจะยิ่งหนักขึ้นในอนาคตอีก เว้นแต่ว่า จะมีการหากาแฟพันธุ์ใหม่ ที่เหมาะสมขึ้น และสามารถเติบโตได้บนเงื่อนไขที่มีมากขึ้นเหล่านี้

นอกจากนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า กาแฟอาราบิก้า ปัจจุบันมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันแทบจะทั้งหมด นั่นหมายความว่า หากต้นกาแฟพันธุ์หนึ่งเกิดความเสียหาย จากบัตรใจที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้แล้ว ก็อาจมีความเป็นไปได้สูง ที่กาแฟพันธุ์อื่น ซึ่งมีลักษณะพันธุกรรมที่มีความคล้ายกันมาก อาจเกิดความเสียหายตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แมลงและศัตรูพืช โรคภัยในกาแฟ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุได้ กาแฟก็นับว่าเป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา และเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเสียด้วย

ดังนั้นแล้ว กาแฟพันธุ์ใหม่ที่จะต้องพัฒนาขึ้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีพันธุกรรมบางอย่าง ที่มีความแตกต่างจากกาแฟซึ่งแต่เดิมมีอยู่เท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องมีผลผลิตที่ได้คุณภาพ ผลผลิตที่ค่อนข้างสูง และพืชเองมีความแข็งแรง ซึ่ง 3 ข้อนี้นับว่าเป็นจุดมุ่งหมายในอุดมคติ อยากจะทำได้เป็นอย่างมาก แต่หากทำได้ พืชเหล่านี้จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดแมลงศัตรูพืช และโรคภัยมากมาย ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงสามารถที่จะเข้าถึงตลาดสเปเชียลตี้ หรือตลาดเฉพาะทางอื่นได้ ซึ่งทำให้บรรดาผู้ผลิตได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นไปอีก

Cenicafé 1 กับ Caturra

Cenicafé 1 เป็นพันธุ์กาแฟใหม่ล่าสุด ที่วิจัยและสร้างขึ้นโดย FNC (สหพันธ์ผู้ปลูกกาแฟโคลอมเบีย) และ Cenicafé (ซึ่งอยู่ในเครือ FNC อีกที) FNC นั้น นับว่าเป็นองค์กรที่สร้าง และพัฒนาพันธุ์กาแฟใหม่มาแล้วมากมายในประเทศโคลอมเบีย ยกตัวอย่างเช่น Castillo ที่มีภูมิต้านทานการเกิดโรคสนิมในใบ และกาแฟพันธุ์ใหม่อีกมากมาย ได้มีการปรับปรุงเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ผลิตและบรรดาเกษตรกรภายในประเทศ

Cenicafé 1 เป็นพันธุ์กาแฟที่ใช้เวลากว่า 20 ปีในการศึกษาวิจัยค้นคว้า เป้าหมายที่ทางองค์กรตั้งไว้สำหรับกาแฟพันธุ์ใหม่นี้เป็นอันดับแรกคือ ต้องการจัดหากาแฟพันธุ์ใหม่ให้กับผู้ปลูกกาแฟชาวโคลอมเบีย ซึ่งคุณสมบัติคือมีความเหมือนกับ Caturra ซึ่งมีภูมิต้านทานการเกิดโรคสนิมในใบ

Caturra จะมีลักษณะเป็นไม้แคระ ถูกปลูกทั่วไปในประเทศแถบละตินอเมริกา มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง คุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง ขนาดของผลเชอร์รี่ก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง ด้วยการเป็นต้นไม้แคระ ทำให้ระบบการจัดการค่อนข้างที่จะง่ายขึ้น และสามารถที่จะปลูกได้มากขึ้น หนาแน่นขึ้นในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ถึงแม้ว่า Caturra แต่เดิมจะถูกพัฒนาให้ทนต่อการเกิดโรคสนิมในใบ แต่ในปัจจุบันนั้นมีความต่างกันออกไป เนื่องจากภูมิต้านทานที่ว่ามานี้ลดลง

Mundo Novo Coffee

Cenicafé 1 เป็นกาแฟลูกผสมระหว่าง Caturra และ Timor Hybrid 1343 โดยกว่าจะได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กาแฟที่จะนำมาใช้ ทางองค์กร Cenicafé ได้ทำการคัดเลือกจากทั้งหมด 116 พันธุ์กาแฟ ท้ายที่สุดแล้วได้ทำการจำกัดให้แคบลง เพื่อที่จะสร้างกาแฟพันธุ์ใหม่นี้ และในที่สุดมันก็เกิดขึ้น ซึ่ง Cenicafé 1 เพิ่งจะถูกนำไปให้เกษตรกรไม่นานมานี้

ไม่เพียงแต่คุณสมบัติในการทนทานต่อการเกิดสนิมในใบ และโรคเกี่ยวกับกาแฟอีกมากมายแล้ว แต่ยังมีภูมิต้านทานเชื้อราที่อาศัยอยู่ในเปลือกของต้นกาแฟ สปอร์เชื้อราที่จะไปโจมตีผลผลิตเชอรี่กาแฟ ถึงแม้ว่าศัตรูพืชเหล่านี้ จะไม่ได้แพร่มาถึงประเทศโคลอมเบียก็ตาม (โดยปกติจะแพร่กระจาย และส่งผลกระทบต่อพืชผลในแอฟริกาเป็นหลัก) แต่ทางองค์กร ต้องการที่จะวางแผนล่วงหน้า ในกรณีที่เกิดโรคเหล่านี้ หรือเชื้อราเหล่านี้แพร่ระบาดมายังแถบละตินอเมริกา เรียกว่ากันไว้ดีกว่าแก้ จะได้ไม่เหมือนอย่างกับการเกิดโรคสนิมในใบกาแฟเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

Cenicafé 1 ยังเป็นพันธุ์กาแฟที่มีผลผลิตอยู่ในระดับเดียวกัน Castillo ซึ่งคณะของผลผลิตเฉลี่ยค่อนข้างใหญ่ และผลผลิตตอนท้าย กับคะแนนคัพปิ้งค่อนข้างสูง

Cenicafé 1 ในเชิงลึก

หากประสบความสำเร็จนั้น Cenicafé 1 จะเป็นกาแฟที่สามารถปลูกได้ทั่วประเทศโคลอมเบีย ในปัจจุบันได้มีการทดสอบระดับภูมิภาคกันอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น Cenicafé 1 ยังเป็นพันธุ์กาแฟที่ปลูกได้ในพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความหนาแน่น ซึ่งสามารถปลูกได้ถึง 10,000 ต้นต่อเฮกตาร์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยร่มเงา หรือประมาณ 5,000-7,000 ต้นต่อเฮกตาร์ หากปลูกภายใต้ร่มเงา โดยการที่สามารถปลูกได้ในความหนาแน่นในระดับนี้ จะต้องขอขอบคุณต้นพันธุ์อย่าง Caturra เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ในที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โดยในต้นกาแฟแต่ละต้นนั้น คาดว่าสามารถผลิตผลเชอรี่ได้ถึง 17.6 กิโลกรัม ในระหว่างรอบการเก็บเกี่ยว 4 อีกครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นผลผลิตที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Castillo ที่เป็นที่นิยมในโคลอมเบียเลย การให้ผลผลิตในระดับที่มากขึ้นนี้ สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ในการปลูกกาแฟมากขึ้น

Cenicafé 1 ที่ถูกปลูกอยู่ปัจจุบันในประเทศนั้น ยังไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยว เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูการเก็บเกี่ยวของมัน แต่ทาง Cenicafé คาดหวังเอาไว้ว่า อาจจะได้ผลผลิตมากถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตที่ปลูกไปทั้งหมด โดยเมล็ดกาแฟจะอยู่ที่ขนาด 18 ซึ่งจัดอยู่ในประเภท Supremo และเมื่อเมล็ดมีขนาดใหญ่ ผลผลิตที่ได้สูง แน่นอนว่าก็สามารถทำราคาได้ดีมากขึ้นตามไปด้วย การคาดการณ์ผลผลิตที่อยู่ในสถานะ Supremo ในระดับที่สูงถึง 84 เปอร์เซ็นต์นี้ นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากเราลองเปรียบเทียบกับกาแฟยอดนิยมอย่าง Castillo ที่มีเพียง 79 เปอร์เซ็นต์ และ Caturra ที่มีแค่เพียง 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ได้มีการทดลองทำการคัพปิ้งกาแฟ Cenicafé 1 ในครั้งแรก ซึ่งสามารถทำคะแนนสูงถึง 84 และได้มีการบันทึกรสชาติและกลิ่นที่ได้ มีความเป็นโกโก้ น้ำผึ้ง และเฮเซลนัทอยู่ ซึ่งรสชาติที่ได้มานี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจจะระบุได้ ว่ารสชาติที่ได้มาจากพันธุ์กาแฟพันธุ์นี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นมากมายที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบฟาร์ม พื้นที่ในการปลูก กรรมวิธีในการโพรเซส รวมถึงปัจจัยอื่นอีกมากมาย เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและรสชาติของกาแฟเพียงทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของพันธุ์เพียงอย่างเดียว

การปลูก Cenicafé 1

เนื่องจากกาแฟพันธุ์นี้ เป็นพันธุ์ที่เพิ่งมีการพัฒนาและสร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ทางเกษตรกรและผู้ผลิต จึงยังไม่สามารถที่จะปลูกกาแฟ Cenicafé 1 ได้ด้วยตนเองในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ทางทีมสร้าง สามารถที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟพันธุ์นี้ได้ หรืออย่างน้อยก็คาดหวังว่ากาแฟจะสามารถเป็นได้ คือรสชาติของกาแฟที่มีความคล้ายกับ Castillo และแน่นอนว่า มีคุณสมบัติในการต้านทานโรคสนิมในใบ และโรคในกาแฟอื่นด้วย ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันได้มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของ Cenicafé 1 แพร่กระจายเพื่อทดลองปลูกไปทั่วประเทศโคลอมเบียถึงประมาณ 4 ตันเลยทีเดียว ซึ่งถูกปลูกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อทำการทดลอง และศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น Cenicafé 1 ยังคงจำเป็นที่จะต้องพัฒนากันต่อไป ก่อนที่อาจจะกลายมาเป็นกาแฟพันธุ์หลักที่ใช้ในโคลัมเบีย

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Cenicafé 1 อาจจะเป็นกาแฟที่เข้ามาแก้ไขปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นปัญหาที่จะหนักหน่วงขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการเกิดสนิมในใบกาแฟ หรือผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีกหลากหลายปัญหา สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แมลงและศัตรูพืชที่อาจมาทำลายพืชผลในโคลอมเบียได้ ในขณะเดียวกัน การสร้าง Cenicafé 1 ขึ้นมา ก็เพื่อผลักดันให้สามารถเข้าถึงตลาดสเปเชียลตี้ ที่มีความเฉพาะทาง และสามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่าได้ด้วย ทางทีมผู้สร้างค่อนข้างที่จะมั่นใจ ว่าผู้บริโภคจะชอบและประทับใจกับรสชาติที่มีความหวาน และความน่าดึงดูดของ Cenicafé 1

Timor Hybrid

แต่ไม่ว่าพันธุ์กาแฟจะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วจะยอดเยี่ยมขนาดไหน จะกลายมาเป็นกาแฟพันธุ์หลัก ที่เราจะได้ดื่มกันต่อไปในอนาคตหรือไม่ แต่สิ่งที่เกษตรกรจะต้องให้ความสำคัญเลย คือระบบการจัดการฟาร์มที่ดี การดูแลดิน การให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช หรือแม้แต่การควบคุมศัตรูพืช ปัจจัยเหล่านี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากอยู่ดี ถึงแม้ว่าเมล็ดพันธุ์กาแฟจะดีเพียงใด

ท้ายที่สุดหวังว่าผู้บริโภคที่อยู่ปลายทางอย่างเรา หากเรามีโอกาสได้ดื่ม กาแฟโคลอมเบีย กาแฟที่เราได้ดื่มนั้น อาจจะเป็น Cenicafé 1 กาแฟพันธุ์นี้อาจเป็นอะไรที่ค่อนข้างไกลตัวเรา แต่จากทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย หากไม่มีการพัฒนาพันธุ์เหล่านี้ ในอนาคต เราอาจจะไม่มีกาแฟดี ๆ ได้ดื่มกัน