ในประเทศผู้ผลิตกาแฟหลายแห่งทั่วโลก มีวิธีการในการดำเนินการและการจัดการฟาร์มที่แตกต่างกันออกไป วิธีการที่แตกต่างกันเหล่านี้ ล้วนมีผลกระทบอย่างมากต่อในเรื่องของการโพรเซสและการขายกาแฟ ทั้งนี้รวมถึงราคากาแฟที่บรรดาเกษตรกรจะได้รับด้วย
รูปแบบการทำไร่กาแฟ หรือ โมเดลธุรกิจ กาแฟที่แพร่หลายมากที่สุด 2 รูปแบบ คือรูปแบบสหกรณ์ และรูปแบบ Estate ในอดีตนั้นมีเพียงรูปแบบการทำฟาร์มกาแฟเท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ปกติจะทำเพียงแค่การโพรเซสและการจำหน่ายกาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน ทั้ง 2 รูปแบบข้างต้นนั้น ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร ที่จะทำการโพรเซสกาแฟ และการขายกาแฟร่วมกัน โดยเกษตรกรหลายเจ้าสามารถที่จะเข้าถึงทั้งอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นได้
ทั้งสองโมเดลดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันไป ซึ่งทั้งสองโมเดลนี้ถูกใช้มาอย่างยาวนาน แต่ก็น่าสนใจที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตกาแฟรายย่อยในบางประเทศ เลิกใช้โมเดลการทำเป็นสหกรณ์กาแฟ และหันมาใช้โมเดลการเกษตรทางเลือกแทน เหตุผลที่เลือกทำแบบนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน แต่ไม่ว่าอย่างไรท้ายที่สุดมันก็นำมาสู่การสร้างโมเดลที่มีความประสงค์ เป็นโมเดลแบบใหม่ขึ้นมามากมาย ทั้งนี้รวมถึงโมเดลที่เรียกว่า Coffee Farmer Collective หรือการก่อตั้งเป็นสมาคมด้วยเช่นเดียวกัน

วันนี้เราจะมาคุยถึงโมเดลการทำฟาร์มกาแฟหรือไร่กาแฟเหล่านี้ แต่เราจะขอเน้นไปที่โมเดลสหกรณ์ และ Estate ทั้งสองมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และโมเดลเหล่านี้มีความน่าสนใจอย่างไร
สหกรณ์และ Estate อะไรคือความแตกต่าง
ก่อนที่เราจะไปดูเรื่องของทั้งสองโมเดลนี้ กับปัญหาและอุปสรรคที่ในอุตสาหกรรมต้องเจอ เราจำเป็นที่จะต้องไปทำความเข้าใจวิธีการทำงาน และความแตกต่างของทั้งสองเสียก่อน โดยหลักแล้วความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือเรื่องของสเกล ชัดที่สุดคือขนาดของฟาร์ม
สหกรณ์กาแฟ
หากเราจะกล่าวถึงสหกรณ์กาแฟ นั่นก็คือกลุ่มผู้ผลิตกาแฟที่รวมตัวกัน เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรจำนวนหนึ่งร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ย เครื่องมือสำหรับทำการเกษตร เมล็ดพันธุ์ หรืออาจจะเป็นเงินกู้ นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการร่วมมือกัน มีการจัดการการฝึกอบรม เพื่อให้บรรดาเกษตรกรและผู้ผลิตมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางด้านการตลาดและธุรกิจได้ดีมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้ช่วยให้ราคากาแฟโดยรวมสูงขึ้น เสถียรภาพทางธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การขายกาแฟในปริมาณที่มากขึ้น
โมเดลสหกรณ์กาแฟนับว่าเป็นโมเดลที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมกาแฟมานานกว่าหลายทศวรรษแล้ว หากมีระบบการจัดการที่ดี โมเดลนี้จะให้ประโยชน์มากมายแก่สมาชิก ที่เป็นเกษตรกร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นผู้ผลิตกาแฟรายย่อย ที่เป็นเจ้าของที่ดินผืนเล็ก ๆ แต่แล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โมเดลสหกรณ์ดังกล่าวนี้ ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหาย โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นธรรม
ตัวอย่างเช่นในประเทศเคนยา สหกรณ์จะได้รับเงินเมื่อขายกาแฟไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะทำการหักค่าธรรมเนียม และมอบเงินให้แก่สมาชิกเป็นรายบุคคล แต่เงินที่สมาชิกได้รับดังกล่าวนั้น กลับกลายเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมมากนัก ทั้งนี้ในแต่ละภูมิภาคปลูกกาแฟในเคนยา ก็มีเหตุผลที่ซับซ้อนแตกต่างกันออกไป มีทั้งสหกรณ์รูปแบบที่มีระบบการจัดการที่ไม่ดีและที่ดี หากเป็นในพื้นที่ที่มี ดินอุดมสมบูรณ์ มีไร่กาแฟจำนวนมาก ระบบการจัดการของสหกรณ์ก็จะดีไปด้วย
โมเดลการทำฟาร์มแบบ Estate
ต่อไปคือโมเดลการทำฟาร์มแบบ Estate อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นเรื่องของสเกล โมเดลแบบนี้เป็นโมเดลที่มีสเกลใหญ่กว่า เกษตรกรแต่ละรายที่เข้าร่วมโมเดลนี้ อาจเป็นเกษตรกรที่มีความใหญ่กว่าแบบสหกรณ์มาก และสิ่งที่สำคัญก็คือ โมเดลธุรกิจ ในรูปแบบนี้ ผู้ผลิตจะเป็นเจ้าของกระบวนการในการผลิตต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการโพรเซสและการขายกาแฟ เกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการแปรรูปหลังเก็บเกี่ยว โดยใช้พื้นที่ที่เป็นส่วนกลางได้ และมักจะดำเนินการและขายกาแฟของตนเอง โดยแยกกับผู้ผลิตรายอื่นในพื้นที่อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
อย่างไรก็ตาม การที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตสามารถจัดการอะไรหลายอย่างด้วยตนเอง มีความเป็นเจ้าของเพิ่มมากขึ้นนี้ ยังหมายความถึงจะต้องมีการรับผิดชอบเพิ่มขึ้นด้วย ในโมเดลแบบ Estate ไม่ได้มีเครือข่ายการสนับสนุน เหมือนกับระบบสหกรณ์ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นมาช่วยเหลือในเรื่องของการโพรเซส การทำการตลาด และการขายกาแฟ เรื่องของปัญหาทางด้านการเงินเช่นเดียวกัน ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือใช้ โมเดลธุรกิจ แบบ Estate จะต้องจัดการและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ระบบสหกรณ์ที่กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไป
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในบางประเทศผู้ผลิตจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ออกจากระบบสหกรณ์ สาเหตุก็มีแตกต่างกันออกไป
สาเหตุแรก สมาชิกสหกรณ์จำนวนมากจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน มีการจัดการการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ การจะได้มาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ เกษตรกรจะต้องจัดการภาระที่มีร่วมกันเหล่านี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นปัญหาทางการเงินในสหกรณ์ อย่างพวกค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดหรือเรื่องหนี้สิน สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสมาชิกทั้งหมดไม่ใช่แค่เพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
ต่อไปเป็นเรื่องของการตัดสินใจ และความอิสระทั้งในเรื่องของการโพรเซสและการขายกาแฟ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องยากสำหรับระบบสหกรณ์ แม้ว่ากาแฟเองจะยังคงเป็นทรัพย์สินของเกษตรกรหรือผู้ผลิต แต่ฝ่ายบริหารของสหกรณ์จะเป็นผู้ตัดสินใจเสียส่วนใหญ่ ทั้งในเรื่องของการโพรเซสและการขาย นั่นหมายความว่าเกษตรกรแต่ละคน มีความเป็นเจ้าของกาแฟนั้นน้อยกว่ามาก พวกเขาจะไม่สามารถทำการโพรเซสกาแฟด้วยวิธีที่แตกต่างจากสมาชิกคนอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้เรื่องของราคาขาย ก็ยังไม่สามารถที่จะเลือกราคาขายได้เป็นรายบุคคล
ยกตัวอย่างในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่นั้นอยู่ในระบบสหกรณ์ พันธุ์กาแฟส่วนใหญ่ที่ปลูกในประเทศนั้นก็เป็นพันธุ์ดั้งเดิม อย่างพวก Caturra หรือ Castillo สหพันธ์ผู้ปลูกกาแฟแห่งชาติโคลอมเบีย (FNC) ก็ต้องการเพียงแค่กาแฟ Washed เป็นหลักเท่านั้น ดังนั้นกาแฟที่มักจะขายได้ราคาดี จึงเป็นเพียงแค่กาแฟ Washed เท่านั้น และหากเราจะคุยกันในเรื่องของกาแฟพิเศษ ที่จำเป็นจะต้องทดลองอะไรใหม่ ๆ มันค่อนข้างที่จะสวนทางกัน
แล้วระบบ Estate ล่ะ
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ผลิตกาแฟจะสามารถเข้าถึงที่ดินได้มากกว่าหากเป็นระบบ Estate ดังนั้นปริมาณการผลิตกาแฟที่ได้ก็จะมากขึ้น มีอิสระในการผลิตเพิ่มขึ้น เจ้าของ Estate สามารถเลือกที่จะทดลองสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ มีผู้ผลิตกาแฟรุ่นใหม่ ๆ จำนวนมาก ที่ตระหนักและทดลองใช้วิธีการโพรเซสแบบต่าง ๆ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟในตลาดเฉพาะทาง มันค่อนข้างเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา หากทุ่มเทและใส่ใจกับงานมาก ในที่สุดก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นตามไปด้วย
โมเดลการทำฟาร์มแบบ Estate ยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในบางประเทศ อย่างเช่นประเทศเคนยา พื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นของครอบครัว ท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งต่อสู่ลูกหลานรุ่นถัดไป หากเป็นพ่อแม่หรือกลุ่มคนรุ่นเก่า อาจจะเลือกโมเดลที่เป็นแบบสหกรณ์มากกว่า ในทางกลับกัน หากเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนอายุน้อยที่ได้ที่ดินเหล่านี้มาเป็นมรดกของตนเอง ส่วนมากถ้าจะทำฟาร์มต่อ จะย้ายไปทำในรูปแบบของ Estate เพื่อที่จะให้สามารถควบคุมการผลิตกาแฟได้มากขึ้น
ข้อเสียของการทำฟาร์มแบบ Estate
อย่างไรก็ตาม การที่เกษตรกรที่ใช้โมเดลการทำฟาร์มแบบ Estate ซึ่งมักจะมีฟาร์มกาแฟขนาดใหญ่ นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบกับปัญหาใด ๆ เลย ในบางประเทศ ผู้ผลิตหรือเกษตรกรอาจจะต้องมีใบอนุญาตในการดำเนินการแบบ Estate
อย่างในประเทศโคลอมเบีย ส่วนใหญ่แล้วกาแฟที่นั่น FNC จะเป็นผู้ดำเนินการส่งออกกาแฟ โดยจะมีการหักเปอร์เซ็นต์ไปส่วนหนึ่งจากยอดขายกาแฟทั้งหมด (ซึ่งเรียกว่า “ค่าสนับสนุนกาแฟ”) เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนเกษตรกร แต่หากคุณไม่ใช่สมาชิกของ FNC จำเป็นจะต้องมีใบอนุญาตในการดำเนินการ ในฐานะบุคคลธรรมดาหรือเกษตรกร Estate
มีข้อกำหนดมากมายที่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะต้องปฏิบัติตาม จึงจะได้รับใบอนุญาตแบบ Estate มา แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศผู้ผลิต โดยทั่วไปแล้วจะมีการนับจำนวนต้นกาแฟขั้นต่ำ มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกภายใต้การผลิตกาแฟขั้นต่ำ รวมถึงกำหนดปริมาณการผลิตทั้งหมดด้วย
นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว การที่จะตั้งไร่กาแฟขึ้นมาได้อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่น หรือต้องใช้ทรัพยากรทั้งเงินและเวลามากยิ่งขึ้น เกษตรกรอาจจะต้องลงทุนในอุปกรณ์และทรัพยากรมากขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่เป็นการลงทุนล่วงหน้า นอกจากนี้แล้ว เกษตรกรใน Estate ยังต้องจัดการการผลิตและต้นทุนแรงงานด้วยตนเอง รวมถึงการโพรเซส และทำการตลาดกาแฟของตน ซึ่งแตกต่างจากการทำสหกรณ์ ที่จะมีคนดูแลในส่วนนี้
ทำความรู้จักโมเดล Coffee Farmer Collective
แม้ว่าโมเดลสกรณ์ และโมเดล Estate จะเป็น 2 โมเดลการทำไร่กาแฟที่พบมากที่สุด แต่ในปัจจุบันก็มีโมเดลใหม่เกิดขึ้นมา นั่นก็คือ Coffee Farmer Collective จะขอเรียกว่า “สมาคมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ” ซึ่งค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นในประเทศผู้ผลิตบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเคนยา

โมเดลธุรกิจดังกล่าวเป็นโมเดลแบบไฮบริด มีความคล้ายกับแบบ Estate ในทางกลับกันก็มีลักษณะการดำเนินงานแบบเดียวกับสหกรณ์ เจ้าของ Estate มีอิสระในการดำเนินการ สหกรณ์อาจจะจำเป็นต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5 คนจึงจะทำการจัดตั้งได้ แต่หากเป็นสมาคมเกษตรกร มีสมาชิกน้อยกว่านั้นก็จัดตั้งได้แล้ว
ข้อดีของโมเดลแบบ Farmer collective คือ ผู้ที่เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ หรือเช่าพื้นที่ฟาร์มขนาดใหญ่พอที่จะสามารถจดทะเบียนแบบ Estate ได้ ในทำนองเดียวกัน ก็ไม่ต้องใช้ระบบแบบเดียวกับระบบสหกรณ์ด้วย และด้วยสิ่งเหล่านี้ ผู้ผลิตกลุ่มเล็ก ๆ จากภูมิภาคเดียวกัน สามารถจัดตั้งสมาคมได้ ซึ่งสามารถที่จะจดทะเบียนเป็นธุรกิจกาแฟกับหน่วยงานท้องถิ่น เกษตรกรแต่ละรายสามารถที่จะควบคุมความของตนเอง ในทางกลับกัน การโพรเซสก็ยังสามารถดำเนินการร่วมกันได้ในโรงสีขนาดเล็กท้องถิ่น
กลุ่มเกษตรกรเอง ก็ยังคงสามารถเป็นเจ้าของ และดำเนินการโรงสีของตนเองได้ สามารถทำการโพรเซสด้วยตนเอง ทำการคัดเกรด คัดแยก และส่งออกกาแฟได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการเหล่านี้ สมาชิกในสมาคมสามารถที่จะรักษาคุณค่าของกาแฟไว้ได้มากยิ่งขึ้น
กล่าวก็คือ มันมีความแตกต่างจากแบบ Estate ตรงที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร แต่ข้อกำหนดของสมาคมเกษตรกรก็แตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละที่ ถึงอย่างนั้นไม่ว่าอย่างไร ผู้ผลิตรายย่อยก็สามารถที่จะมีส่วนร่วมและเข้ามาเป็นสมาชิกได้ สมาชิกแต่ละคนของสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ยังสามารถที่จะสื่อสารกับผู้ซื้อได้โดยตรง นั่นทำให้มีความสามารถในการต่อรองราคาได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของระบบสหกรณ์เช่นเดียวกัน
โมเดลแบบสหกรณ์และแบบ Estate ในอนาคต
ไม่ว่ารูปแบบการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะเป็นอย่างไร ทั้งโมเดลแบบพิเศษและโมเดลแบบสหกรณ์ ก็ยังคงเป็น 2 โมเดลที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมกาแฟนี้มากกว่า แต่สิ่งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้
สหกรณ์ที่มีระบบการจัดการที่ดี จะทำให้สมาชิกทุกคน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน ทำให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ดียิ่งขึ้น ผู้จัดการสหกรณ์ก็ยังสามารถจำกัดรายได้ของสมาชิก หากกาแฟที่ผลิตออกมาเป็นกาแฟที่ไม่ได้มีคุณภาพเพียงพอ ซึ่งนั่นอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจในการรักษามาตรฐานได้ นอกจากนี้เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบสหกรณ์ สามารถทำให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าถึงทรัพยากรบางอย่าง สิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง และโอกาสทางธุรกิจได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก็ลดลงด้วย ในกรณีที่หากเป็น Estate ต้นทุนการผลิตอาจจะสูงเกินไปสำหรับเกษตรกรบางราย
การชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสีย
หากมีเรื่องของระบบการจัดการที่ดีและมีการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม ผู้ซื้อกาแฟก็อาจจะนิยมซื้อกาแฟจากสหกรณ์มากกว่าซื้อกับ Estate ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะระบบสหกรณ์มักจะถูกพูดถึงในทางที่ดี ในด้านของการควบคุมคุณภาพได้ดีมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีระบบการคัดแยกผลเชอรี่ที่ดีกว่าเป็นต้น
นอกจากนี้แล้วหากเป็นระบบ Estate มักจะเป็นการจ้างแรงงานตามฤดูกาลเพื่อช่วยเหลือในการเก็บเกี่ยว ผู้เก็บเกี่ยวอาจจะได้รับเงินตามปริมาณเชอรี่ที่เก็บเกี่ยวได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจสร้างแรงจูงใจให้มุ่งเน้นไปที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่ก็ต้องขอบอกว่าไม่ใช่ทุกที่จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่หากวัดกันตามเปอร์เซ็นต์ ระบบสหกรณ์จะเป็นแบบนั้นน้อยกว่า
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความเป็นอิสระในระบบ Estate ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน เกษตรกรสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟของตนได้มากขึ้น ผ่านกระบวนการโพรเซสที่หลากหลาย มีการสร้างแบรนด์และการทำการตลาดของตนเองได้ด้วย

กล่าวคือ หากเป็นเกษตรกรที่มีปริมาณที่ดินหรือสามารถผลิตกาแฟได้ในสเกลใหญ่ การทำฟาร์มโดยใช้โมเดลธุรกิจแบบ Estate สามารถที่จะทำกำไรได้มากยิ่งขึ้นในระยะกลางจนถึงระยะยาว ในทางกลับกัน สำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากทั่วโลก อาจจะไม่มีทางเลือกมากมายนักนอกจากต้องดำเนินการ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสหกรณ์ หากไม่มีการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรอื่น ๆ ผู้ผลิตหลายคนอาจจะไม่สามารถโพรเซสและขายกาแฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยสเกลการผลิตกาแฟของแต่ละฟาร์ม จะเป็นตัวกำหนดว่ารูปแบบการทำฟาร์มจะเป็นรูปแบบใด มีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร ถึงอย่างนั้นในปัจจุบันเราก็มีโอกาสได้เห็นโมเดลการทำความรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบทางเลือกอย่างที่เรานำเสนอสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เหล่านี้ก็เริ่มมีปรากฏให้เห็นมากขึ้น และคาดว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต