ปัจจัยที่มีผลต่อ Acidity ในกาแฟ

ความเป็นกรด หรือ acidity ที่มักเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นรสชาติสำคัญที่อยู่ในกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกาแฟเกรดพิเศษ หรือสเปเชียลตี้ หรือแม้แต่ในการแข่งขัน การประกวดกาแฟต่าง ๆ เรื่องของความเป็นกรด ก็นับเป็นเรื่องหนึ่งที่ใช้เป็นตัวตัดสินกาแฟ นั่นแสดงว่า กาแฟแต่ละชนิดจะมีความเป็นกรดที่ไม่เท่ากัน แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เขาบอกว่า กาแฟที่ดี จะมีความเป็นกรดที่ดีด้วย แล้วไอ้ความเป็นกรด หรือ acidity ที่ดีเป็นอย่างไร เราสามารถชงกาแฟเพื่อจะสกัดเอาสิ่งนี้ออกมาได้มากที่สุด หรือในทางกลับกัน เราจะสามารถสกัดได้ในปริมาณที่น้อยได้หรือไม่ วันนี้เรามาหาคำตอบกันเลย

เราเคยกล่าวถึงเรื่องความเป็นกรดนี้กันไปแล้ว แต่มาในคราวนี้ จะขอมาทบทวนความจำกันสักหน่อย ว่าคำว่า acidity หรือความเป็นกรดในกาแฟมันคืออะไรกันแน่

citrus coffee

Acidity คืออะไร

ผู้คนมักจะอธิบายความเป็นกรดในกาแฟ ด้วยคำต่าง ๆ เช่น มีความเปรี้ยวแบบผลไม้ตระกูลซิตรัส มีความฉ่ำแบบมะเขือเทศ เปรี้ยวเหมือนเลม่อน มีความสดใส และอธิบายด้วยคำอื่น ๆ อีกมากมาย เรามักใช้คำเปรียบเปรียบเปรยกับการอธิบายความเป็นกรด แต่ก็ไม่เคยมีใครให้คำตอบเราได้จริงอย่างชัดเจน ว่าสิ่งนี้มันคืออะไรและเราจะสามารถสังเกต หรือรับรสได้อย่างไร

ความเป็นกรด นี้เอง ไม่ใช่แค่ความเปรี้ยว มีความเปรี้ยวที่มีรูปแบบแตกต่างกันมากมาย ความเป็นกรดในกาแฟนั้น ส่งผลต่อรสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟอย่างมาก เราอาจจะเคยได้ยินผู้คนพูดถึงกาแฟตัวใดตัวหนึ่ง ที่มีลักษณะของสโตนฟรุต ฉ่ำแบบมะเขือเทศ หรือฉ่ำแบบแอปเปิ้ล เหล่านี้มีความเป็นกรดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่เราสามารถรับรสได้ผ่านประสาทรับรสของเราภายในปาก การ cupping สามารถที่จะแยกแยะความเปรี้ยวในแบบที่แตกต่างกันได้ แต่เราในฐานะผู้ที่ดื่มกาแฟธรรมดา จะแยกแยะความแตกต่างของความเปรี้ยว หรือความเป็นกรดที่แตกต่างกันได้อย่างไร

ความเป็นกรดนั้นเกิดขึ้นจากสารประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน และสารประกอบเหล่านั้นก็ส่งผลต่อรสชาติกาแฟที่แตกต่างกันด้วย อีกทั้งยังทำหน้าที่ชูรสชาติของกาแฟนั้นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และดียิ่งขึ้น ในทางกลับกัน อาจทำให้รสชาติของกาแฟน้ำด้อยลงก็ได้ การทำความเข้าใจสารประกอบทางเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในกาแฟเหล่านี้ สามารถที่จะดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของกาแฟตัวนั้นได้ ตั้งแต่กระบวนการคั่ว จนไปถึงกระบวนการชงมาให้เราได้ดื่มเลย

ความเป็นกรดนั้น เป็นเหมือนดาบสองคม สามารถที่จะเติมเต็มรสชาติของกาแฟตัวนั้น ๆ และในทางกลับกัน มันสามารถทำลายบาลานซ์ของกาแฟนั้นได้ด้วย ยิ่งกาแฟมีความเป็นกรดมากเท่าไหร่ กาแฟตัวนั้นก็จะกลายเป็นกาแฟที่มีความเปรี้ยว ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก ในทางกลับกัน หากเป็นกาแฟที่ไม่มีความเป็นกรดเลย กาแฟของเราจะมีความแบนและไร้มิติโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่ทำให้ Acidity แตกต่างกัน

โดยทั่วไปแล้ว กรดที่สามารถพบได้ในกาแฟสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กรดอินทรีย์ และกรด chlorogenic

Malic Acid

กรดอินทรีย์ต่าง ๆ ที่อยู่ในกาแฟได้แก่ กรด citric, กรด malic, กรด quinic, กรด acetic, กรด succinic และกรด tartaric กรดเหล่านี้ที่กล่าวมา เป็นกรดที่ให้รสและกลิ่นผลไม้ที่ดีในแก้วกาแฟของเรา ยิ่งกาแฟตัวไหนที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นกรดสูง มักจะมีกรดอินทรีย์เหล่านี้อยู่มาก และกรดแต่ละชนิดให้รสและกลิ่นที่แตกต่างกันอย่างไร

  • กรด malic เป็นกรดชนิดเดียวกับที่เราได้รับในแอปเปิ้ลเขียว ดังนั้น หากมีกรดชนิดนี้อยู่กาแฟของเรา จะมีความชุ่มฉ่ำและความคมชัดที่นุ่มนวลคล้ายกับแอปเปิ้ลเขียว
  • กรด citric กรดชนิดนี้จะมีความเปรี้ยวมากกว่า หากนึกไม่ออก ให้นึกถึงความเปรี้ยวของมะนาว ส้ม และเนคทารีน (ผลไม้ที่มีความคล้ายลูกพีช)
  • กรด tartaric จะมีลักษณะคล้ายกับองุ่น แต่จะพบมากในกล้วยต่าง ๆ
  • กรด acetic จะมีความคล้ายกับน้ำส้มสายชู และเป็นรสชาติที่ผู้คนไม่ค่อยชอบมากนัก

อีกประเภทหนึ่งของกรดในกาแฟ คือกรด chlorogenic ซึ่งจะแตกตัวไปในระหว่างกระบวนการคั่ว ยิ่งคั่วนานก็จะยิ่งมีการแตกตัวเยอะ เป็นกรด 2 ชนิดคือ กรด quinic และกรด caffeic กรด quinic นี้เองเป็นกรดที่ไม่มีรสชาติที่ดี ซึ่งส่วนมากแล้วจะทำให้เกิดรสขม ฝาด และความเปรี้ยวที่ไม่พึงประสงค์ในเครื่องดื่มของเรา

ด้วยเหตุนี้เอง ในกาแฟคั่วเข้ม จึงมักมีความขมที่มากขึ้น ในขณะที่กาแฟที่คั่วอ่อนกว่า จะมีความเป็นกรดที่มากขึ้น

เรารู้แล้วว่า ในกระบวนการคั่วสามารถที่จะกำหนดความเป็นกรดของเราได้มากเลยทีเดียว แต่ในทางกลับกัน โดยธรรมชาติของกาแฟตั้งแต่การโพรเซสออกมา จนเป็น green bean หรือสารกาแฟ ความเป็นกรดในกาแฟก็แตกต่างกันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ทำไมจึงเป็นแบบนั้น

ทำไม green bean แต่ละชนิด ถึงมีความเป็นกรดที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะคั่ว หรือชงกาแฟอย่างไร กาแฟบางชนิดหรือบางตัวนั้นก็จะมีความเป็นกรดมากกว่ากาแฟตัวอื่น ๆ เสมอ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายปัจจัย เช่น แหล่งกำเนิดที่มาของกาแฟ สายพันธุ์กาแฟ วิธีการโพรเซส และสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อความเป็นกรดในกาแฟ

แหล่งที่มาของกาแฟ

กาแฟจากแหล่งปลูกแต่ละที่นั้น มีลักษณะของดินที่ใช้ในการปลูกที่แตกต่างกันออกไป ในดินเหล่านั้นก็มีกรดที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กรด malic ที่จะมีมากโดยเฉพาะในกาแฟเคนย่า ในขณะเดียวกัน กรด citric สามารถที่จะพบได้มากในกาแฟโคลัมเบีย กาแฟเป็นพืชที่หาอาหารในดินโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นจึงได้รับกรดเหล่านี้มาจากดินด้วย นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมหลายครั้งที่เราดื่มกาแฟเคนย่า เอกลักษณ์กาแฟที่ได้คือความเป็นแอปเปิ้ลหรือมะเขือเทศฉ่ำ ๆ ในทางกลับกัน เรากลับได้ความเป็นมะนาวจากกาแฟโคลัมเบีย

สายพันธุ์และ Variety

coffee variety

สายพันธุ์กาแฟ ก็มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นกรดของกาแฟ ยกตัวอย่างเช่น กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า มีแนวโน้มที่จะมีกรด chlorogenic น้อยกว่า เมื่อมีกรดน้อยกว่า เราก็สามารถรับรู้ความเป็นกรดนี้ได้น้อยกว่า กาแฟบางสายพันธุ์ เช่น SL-28 ที่เป็นกาแฟเคนย่า มีความเป็นกรดมากเลยทีเดียว

งั้นแสดงว่า มีทั้งส่วนหนึ่งที่เป็นเพราะสายพันธุ์โดยธรรมชาติของตัวกาแฟ และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเพราะสภาพการทำการเกษตรด้วย ดังนั้น กาแฟบางสายพันธุ์จึงเหมาะสมที่จะปลูกในอุณหภูมิที่เย็นกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งอุณหภูมินี้ก็ส่งผลต่อรสชาติด้วยเช่นกัน

สภาพภูมิอากาศและระดับความสูง

เมล็ดกาแฟที่ผู้คนมักจะหลงรักมาก มักจะเป็นเมล็ดกาแฟที่ปลูกในระดับความสูงที่สูงมาก แต่ถ้าให้พูดกันตามตรง เรื่องของระดับความสูงไม่ได้สำคัญเท่ากับอุณหภูมิที่ลดต่ำลง เมื่อระดับความสูงสูงขึ้น กาแฟที่ปลูกในอุณหภูมิที่เย็นมักจะทำให้การสุกช้าลง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดการพัฒนารสชาติที่ซับซ้อนมากขึ้นภายในเมล็ดกาแฟ เมื่อเราชงกาแฟนั้นออกมาแล้ว มักจะมีความเป็นกรดและกลิ่นหอมมากกว่ากาแฟที่ปลูกในสภาพอากาศที่อุ่นกว่า

การโพรเซส

อย่างที่เรารู้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า “เมล็ดกาแฟ” แต่เมล็ดกาแฟที่ว่า ก็คือเมล็ดของผลเชอรี่รสหวาน ที่เรามักเรียกกันว่า “เชอรี่กาแฟ” มีวิธีการโพรเซส และแปรรูปต่าง ๆ มากมายที่จะดึงคุณลักษณะบางอย่างของกาแฟออกมาได้มากมายเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูป หรือการโพรเซสแบบ washed process หลังจากที่เราทำการล้างเมล็ดกาแฟแล้ว ขั้นต่อไปเราต้องนำกาแฟเหล่านั้นมากำจัดเมือกที่อยู่บริเวณรอบ ๆ เมล็ดกาแฟนั่นเสร็จก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกำจัดชั้นของน้ำตาลซูโครสและฟรุกโทส ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ความเป็นกรดชัดเจนมากขึ้น ไม่ถูกปลุกด้วยรสชาติหวานของกาแฟ ในทางกลับกัน หากเราโพรเซสแบบ natural process ซึ่งจะไม่ทำการล้างเมือกเหล่านั้นออก ปล่อยให้เมือกเหล่านั้นได้แทรกซึมเข้าไปในเมล็ด เพื่อทำให้กาแฟมีรสหวานมากขึ้น เมื่อกาแฟมีรสหวานมากขึ้น อาจจะไปกลบความเป็นกรดที่เราสามารถรับรู้ได้

แล้วเราจะควบคุมระดับความเป็นกรดในกระบวนการคั่วได้อย่างไร

ในกระบวนการคั่วกาแฟนั้น เราสามารถที่จะเน้น หรืออาจจะกลบความเป็นกรดได้ เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ่อย ๆ ว่ากาแฟคั่วอ่อน มักจะมีรสเปรี้ยว และยิ่งคั่วเข้มมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความขม และรสเปรี้ยวก็จะหายไปมากเท่านั้น กรดส่วนใหญ่นั้นจะลดความเข้มข้นลงในระหว่างกระบวนการคั่ว ในทางกลับกัน ก็มีกรดบางชนิดที่ถูกสร้างขึ้นจากการย่อยสลายของสารประกอบต่าง ๆ หมายความว่า กรดบางชนิดจะถูกสร้างขึ้นเมื่อเรายิ่งคั่วกาแฟนานขึ้น หรือคั่วเข้มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กรดตระกูลกรด chlorogenic ที่แบ่งออกเป็นกรด quinic ซึ่งให้รสขมและฝาด กับกรด caffeic

ยิ่งกาแฟคั่วอ่อนมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสัมผัสได้รสชาติโดยธรรมชาติของกาแฟตัวนั้น ๆได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ยิ่งเราคั่วกาแฟเข้มขึ้น รสชาติเหล่านี้ไม่ได้หายไป แต่มันจะถูกซ่อนไว้ภายใต้รสชาติขม และรสชาติที่ฝาดมากขึ้น หากใครที่คุ้นเคยกับกาแฟสเปเชียลตี้ เรามักจะคุ้นเคยกับกาแฟคั่วอ่อน แต่การคั่วกาแฟแบบคั่วเข้ม โดยไม่ทำให้กาแฟเกิดความขม ก็นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเลย

freshly roasted aromatic coffee beans

การคั่วกาแฟ ไม่ใช่ว่าเราใส่กาแฟเข้าไปในเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟแล้วจบเพียงเท่านั้น เราจำเป็นต้องรู้วิธีจัดการกับความร้อน และการไหลของอากาศ เพื่อที่จะสร้างโปรไฟล์ที่เหมาะสม และชูคุณสมบัติที่ดีที่สุดของกาแฟตัวนั้น ๆ ออกมา

ความร้อนสูง มักจะดึงเอาความเป็นกรดออกมาได้มาก แต่หากความร้อนสูงเกินไป กาแฟของเราก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น การควบคุมปริมาณความร้อนให้สมดุลจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจะต้องคำนึงถึงประเภทเมล็ดกาแฟที่เรานำมาคั่ว ยิ่งเมล็ดมีความนิ่ม เมล็ดกาแฟของเราก็จะมีความอ่อนไหวต่อความร้อนมาก

เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเมล็ดกาแฟของเรา และหมั่นตรวจเช็คระดับความร้อนตลอดการคั่ว เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้ว เราจะได้กาแฟที่มีความสมดุล และมีความเป็นกรดที่ชัดเจน

การคั่วกาแฟ ก็มีความคล้ายกับการชงกาแฟ คือการทำการทดลอง ด้วยเวลา และรูปแบบการคั่วที่แตกต่างกันออกไป สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ว่ารูปแบบการคั่วกาแฟแบบไหน ส่งผลต่อความเป็นกรดในกาแฟอย่างไร ยิ่งเราพยายามเก็บข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะมีข้อมูลมากขึ้นเท่านั้น

การควบคุมความเป็นกรดในการชงกาแฟ

สมมุติว่า เรามีกาแฟเอธิโอเปียคุณภาพสูง ที่มีรสเปรี้ยวที่โดดเด่นมาก ผ่านการคั่วมาอย่างพิถีพิถัน เมื่อเรานำกาแฟนั้นมาชงแล้ว เท่ากับว่าเราจะได้กาแฟที่ดี 1 แก้วหรือไม่ อย่างที่เขาชอบบอกกันว่า “กาแฟดี ชงมาแบบไหนก็ดี” สิ่งนี้อาจไม่จริงเสมอไป หาเครื่องชงกาแฟออกมาอย่างผิด ๆ กาแฟแก้วนั้นของเราอาจจะมีรสชาติแบนก็ได้ ในทำนองเดียวกัน หากเราได้เมล็ดกาแฟที่มีโน้ตของช็อกโกแลต เป็นกาแฟบราซิลคั่วเข้มปานกลาง ถึงแม้กาแฟจะมีความเข้มก็ตาม แต่เราอาจได้รสเปรี้ยวมา หากเราสกัดออกมาได้น้อยเกินไป

แล้วการสกัดกาแฟคืออะไร ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟอย่างไร

ทันทีที่น้ำสัมผัสกับกาแฟของเรา สารประกอบที่ให้กลิ่นและรสชาติ จะเริ่มกระจายไปลงในน้ำ นี่คือการสกัดกาแฟ ซึ่งระดับการสกัดก็จะส่งผลต่อรสชาติและกลิ่นในกาแฟของเรา ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เราสกัดรสและกลิ่นออกมาแตกต่างกัน ไม่ได้สกัดออกมาในเวลาเดียวกัน ทำให้การสกัดกาแฟนั้นค่อนข้างเป็นอะไรที่ซับซ้อน และต้องค่อย ๆ เรียนรู้

รสของผลไม้และความเป็นกรด จะเป็นสิ่งแรกที่ถูกสกัดออกมาก่อน ตามด้วยความหวานและบาลานซ์ จากนั้นก็ปิดท้ายด้วยความขม นั่นหมายความว่า การสกัดน้อยเกินไป จะทำให้เกิดรสเปรี้ยวมาก เนื่องจากไม่มีรสหวานและความขม เพื่อทำให้กาแฟเกิดความบาลานซ์ ในทางกลับกัน การสกัดกาแฟออกมามากเกินไป จะทำให้กาแฟมีรสขม เพราะความหวานและความเปรี้ยวจะออกมามากจนเกินไป ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือบาลานซ์ในกาแฟ

กฎเหล็กในการสกัดกาแฟ

  • ยิ่งเบอร์บดของเราละเอียดมากเท่าไหร่ ยิ่งสกัดกาแฟออกมาได้เร็วมากเท่านั้น (เวลาในการสกัด จะไม่เหมือนกับเวลาในการชง อย่าจำสับสนกันนะ) กาแฟบดหยาบ หมายถึงความเป็นกรดที่มากขึ้น ในทางกลับกัน การบดละเอียดจะสามารถดึงรสขมออกมามากขึ้น
  • ยิ่งใช้เวลาชงกาแฟนานขึ้น เวลาในการสกัดก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย การชงกาแฟโดยใช้เวลาน้อยกว่าจะสามารถดึงเอาความเป็นกรดออกมาได้มากกว่า ในทางกลับกัน นานกว่าก็ยิ่งขมกว่า
  • ยิ่งน้ำร้อนมากเท่าไหร่ การสกัดก็จะยิ่งเร็วขึ้นเท่านั้น แต่หากอุณหภูมิของน้ำเย็นเกินไป กรดจะไม่สามารถสกัดออกมาได้ เราสามารถที่จะสกัดกรดที่ดี และกรดที่ไม่ดีออกมาได้ ในขณะที่เราชงกาแฟ การใช้น้ำร้อนในการชงจะสามารถสกัดกรดออกมาในกาแฟได้มากกว่าการใช้น้ำเย็น

ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสกัดกาแฟออกมาได้ยอดเยี่ยม เพื่อที่จะดึงเอาความเป็นกรดออกมาได้ดี คือการใช้อุณหภูมิน้ำที่ค่อนข้างสูง และใช้เบอร์บดกาแฟที่หยาบขึ้นสักนิด ใช้เวลาในการชงกาแฟให้สั้นลง เพื่อที่จะสามารถดึงกรดต่าง ๆ ออกมาได้มากขึ้น จากนั้นค่อยทำการปรับรสชาติ บดกาแฟให้ละเอียดมากขึ้น และใช้เวลาในการลงน้ำให้นานขึ้น ถ้ากาแฟของเราออกมาเปรี้ยวเกินไป ลองลดอุณหภูมิน้ำลงสักนิด แต่การลดอุณหภูมิน้ำก็ต้องเพิ่มเวลาในการชง เนื่องจากการสกัดจะใช้เวลานานขึ้นที่อุณหภูมิต่ำลง

Pour-over coffee

จดจำสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการชงกาแฟ เราต้องการให้มันเกิดความบาลานซ์ในแก้วกาแฟของเรา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและความชอบส่วนตัว ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพื่อให้กาแฟของเราออกมาเหมาะสมและถูกใจเรามากที่สุด

เรื่องของความเป็นกรด เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อรสต่าง ๆ ในกาแฟของเรา แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ควรเลือกที่จะชงและดื่มกาแฟที่เหมาะกับความชอบส่วนตัวของเรา บางทีอาจไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อนมากนักก็ได้

สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับกาแฟคือ มีทั้งกลิ่นหอมและรสชาติมากมายที่เกิดขึ้นภายในปาก ไม่ว่าจะเป็นกาแฟแบบไหน สายพันธุ์อะไร คั่วแบบไหน แปรรูปแบบไหน และกาแฟนั้นมาจากแหล่งใด ซึ่งเหล่านี้ก็มีระดับของความเป็นกรดที่แตกต่างกัน ดังนั้น การลองชิมกาแฟหลาย ๆ แบบ เพื่อพัฒนาประสาทการรับรสและกลิ่นของเรา ให้เราสามารถดื่มกาแฟและชงกาแฟในแบบที่เราชอบได้ จากนั้นเมื่อเราได้กาแฟแบบที่สมบูรณ์แบบที่เราต้องการแล้ว เราจึงจะสามารถดัดแปลงและใส่ลูกเล่นต่าง ๆ ไปในแก้วกาแฟของเราได้

ความเป็นกรด เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างสมดุลและทำให้กาแฟของเรามีชีวิตชีวาขึ้นมาก สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากกับการดื่มกาแฟในตอนเช้าของเรา ดังนั้น ขอให้มีความสุขกับการดื่มกาแฟนะครับ