ปัจจัยที่มีผลต่อ การสกัดกาแฟ

กาแฟนับว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์อย่างเรามาแล้วช้านานมาก ๆ ในทุกยุคทุกสมัย กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม และมีการพัฒนามาก ๆ อย่างหนึ่ง และแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ที่เราเรียกกันว่ายุคแห่ง Third Wave Coffee ที่เราเริ่มพัฒนา และเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟมาก ๆ และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กรรมวิธีการปลูก สถานที่ปลูก และการดูแลเอาใจใส่ การโพรเซส การคั่ว ไปจนถึงการชง

เราในฐานะคนดื่มกาแฟ และชงกาแฟดื่มเอง ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีมากมาย ซึ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกาแฟที่ได้มาก ๆ ตั้งแต่การบดกาแฟ เราจะบดอย่างไรให้กาแฟของเราออกมาดีที่สุด การเทน้ำ และต้องเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ มากมายด้วย ซึ่งเหล่านี้มีหลักการที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกล่าวถึงเรื่องของการ สกัดกาแฟ

ทำไมบาริสต้าตามร้านกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟสเปเชียลตี้ สามารถที่จะดึงรสชาติและกลิ่นที่ควรจะเป็นของกาแฟตัวนั้น ๆ ออกมาได้ตามที่คนเหล่านั้นต้องการ การชงกาแฟให้ออกมาดีและมีคุณภาพ มีแนวคิดพื้นฐานอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ มากมาย อย่างความแตกต่างระหว่างการแช่ (immersion) และการไหลผ่าน (percolation) ความสามารถใน การสกัดกาแฟ และสิ่งที่เรียกว่า ค่า TDS คืออะไร และทำไมเรื่องของอัตราส่วนการชงหรือ ratio จึงสำคัญ

crema on espresso

การสกัดกาแฟ

อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ การชงกาแฟ ก็คือการ สกัดกาแฟ โดยในขณะที่เราชง สิ่งที่ถูกสกัดออกมาจะเป็นสารประกอบต่าง ๆ มากมายที่อยู่ในกาแฟคั่วบด กาแฟนั้นต้มโดยใช้น้ำร้อน ดังนั้นสารประกอบที่มากมายหลากหลายจึงถูกสกัดออกมาได้จากเมล็ดกาแฟบดนั้น ๆ เพื่อสร้างเป็นกาแฟ 1 แก้ว

สารประกอบที่ถูกสกัดออกมามากมายนั้น เป็นสารประกอบที่ให้รสชาติและกลิ่นของกาแฟของเรา โดยสารประกอบเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสารประกอบดังนี้

  • คาเฟอีน (เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กาแฟของเรามีรสขม)
  • กรด (สารประกอบที่ให้รสเปรี้ยว หรืออาจมีส่วนในการทำให้กาแฟมีรสหวาน เช่น รสของส้ม แอปเปิ้ล หรืออาจมีรสขององุ่น)
  • ลิพิดและกรดไขมัน (มีส่วนในเรื่องของการให้ความหนืดและบอดี้ของกาแฟ)
  • น้ำตาล (ให้เกี่ยวกับเรื่องความหวาน ความหนืด และบอดี้ของกาแฟ)
  • คาร์โบไฮเดรต (ให้ในเรื่องของความหนืด บอดี้ และความขมของตัวกาแฟด้วย)

ความสามารถในการละลาย และความสามารถในการสกัดของก่แฟก็สามารถได้รับผลกระทบจากสิ่งต่าง ๆ มากมาย อาจเป็นเรื่องของลักษณะทางพันธุกรรมโดยธรรมชาติของกาแฟ เบอร์บดที่เราใช้ ปริมาณแร่ธาตุในน้ำที่เราใช้ ระดับการครั่วกาแฟของเรา วิธีในการชงกาแฟ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

บางครั้ง กรรมวิธีการชงกาแฟแบบหนึ่ง อาจจะได้ผลดีกับกาแฟตัวหนึ่ง แต่กับอีกตัว อาจจะไม่ได้ผลดีแบบนั้นเหมือนกันก็มี ดังนั้นการที่เราจะได้กาแฟที่ถูกใจเรานั้น จำเป็นที่จะต้องลองผิดลองถูกมากเลยทีเดียว บาริสต้าหลายคนให้ความสำคัญในเรื่องของ “ความคงที่” โดยอาจเริ่มจากสูตรการชงกาแฟสูตรใดสูตรหนึ่ง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนปัจจัยต่าง ๆ ไปทีละปัจจัย อาจเป็นการปรับปริมาณต่าง ๆ หรือแม้แต่การปรับเบอร์บด ซึ่งเหล่านี้ส่งผลต่อรสชาติ แต่ปัจจัยอื่น ๆ ก็จำเป็นต้อง “คงที่” จนกว่าจะได้สูตรตามที่เราต้องการ

ต่อไปจะเป็นประเด็นสำคัญ 2 (+1) ประเด็น ที่ให้กาแฟสองแก้วแตกต่าง นั่นคือเรื่องของการแช่ (immersion) และการไหลผ่าน (percolation) ของกาแฟ

การแช่กาแฟ

Barista making french press

การแช่หรือ immersion ในการ สกัดกาแฟ คือการที่ผงกาแฟของเราถูกแช่อยู่ในน้ำในขณะที่เราชงกาแฟ และการแช่นี้เองจะเป็นการสกัดกาแฟไปในตัวด้วย วิธีการชงกาแฟแบบที่เราต้องแช่กาแฟก็มีอยู่ด้วยกันมากมายหลากหลายวิธี เช่น การชงแบบ French press, siphon, การใช้ clever dripper, AeroPress หรือแม้แต่ในกระบวนการประเมินคุณภาพของกาแฟ ที่เราเรียกว่า การ cupping ก็ใช้วิธีการแช่กาแฟ การทำกาแฟ cold brew ก็ใช้กระบวนการแช่กาแฟนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแช่กาแฟค่อนข้างนานเลย

การชากาแฟนั้น เป็นวิธีการ สกัดกาแฟ ที่เราไม่ต้องจำเป็นต้องยุ่งกับกาแฟมากมายเท่าไหร่นัก อาจจะเป็นการเติมน้ำลงไป แล้วรอประมาณ 4-5 นาที ซึ่งนี่เป็นมาตรฐานที่ดีของการสกัดกาแฟแบบแช่ (โดยใช้น้ำร้อน) ซึ่งการชงกาแฟแบบที่เราแช่กาแฟนี้ เป็นวิธีการที่เราจำเป็นต้องผ่านการกรองด้วย ดังนั้นจะต้องใช้ฟิลเตอร์ ตัวอย่างอย่างเครื่องชง French press จะใช้ฟิลเตอร์โลหะ ในทางกลับกัน อุปกรณ์ชงแบบ clever filter จะใช้ฟิลเตอร์กระดาษเสียมากกว่า

และไม่ว่าจะใช้ฟิลเตอร์แบบไหนก็ตาม การใช้ฟิลเตอร์ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำหน้าที่ไม่ให้ผงกาแฟเล็ดรอดออกมาปนกับเครื่องดื่มของเรา อีกทั้งยังทำหน้าที่ดักจับน้ำมันบางส่วนที่ออกมาจากกาแฟด้วย

อัตราการสกัดจะน้อยลงเรื่อย ๆ หากเวลาผ่านไปนานขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะสกัดรสชาติของกาแฟออกมาเพิ่ม สิ่งที่ออกมาจะไม่ใช่ เนื่องจากผงกาแฟบดเป็นของแข็ง ซึ่งมสารประกอบต่าง ๆ อยู่ในนั้นมากมาย การที่เรายังคงแช่กาแฟต่อไปนั้น จะทำให้กาแฟอิ่มตัว กาแฟจะเริ่มอุ้มน้ำมากขึ้นจนไม่สามารถสกัดอะไรออกมาได้อีก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การแช่กาแฟมีข้อจำกัด หรือไม่สามารถดึงรสชาติของกาแฟออกมาเต็มที่ได้ ยังมีเรื่องที่ต้องรู้อีกมากมายเกี่ยวกับวิธีการแบบนี้ โดยอาจจะต้องมีเคล็ดลับบางอย่าง ซึ่งเราจะกล่าวถึงในขั้นต่อ ๆ ไปด้วย

การไหลผ่าน

การไหลผ่านคือ การที่น้ำนั้นค่อย ๆ ซึมผ่านกาแฟของเรา ผ่านผิวกาแฟลงไปทำการสกัดทีละน้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกาแฟฟิลเตอร์ทั้งหมด จะใช้วิธีการไหลผ่านนี้ในการสกัดกาแฟ หรือแม้แต่การทำกาแฟดริป ไม่ว่าจะเป็นดริปเปอร์ V60, Chemex หรือ Kalita Wave ก็ใช้หลักการไหลผ่านนี้ หรือแม้แต่เครื่องดริปอัตโนมัติ Mr.Coffee, Fetco และ BonaVita ที่ทำการสกัดกาแฟแบบ batch brew ก็ใช้หลักการเดียวกันในการสกัดกาแฟ

หลักการไหลผ่านนี้เอง เป็นหลักที่จะมีประสิทธิภาพการสกัดกาแฟมากกว่าการแช่อยู่เล็กน้อย การที่เราค่อย ๆ ปล่อยให้น้ำไหลผ่านกาแฟนี้เอง จะทำให้ไม่เกิดปัญหากาแฟอุ้มน้ำ แล้วเกิดการอิ่มตัว กาแฟที่ได้จะได้รับน้ำสม่ำเสมอ (แต่เราจำเป็นต้องลงน้ำอย่างสม่ำเสมอด้วย และน้ำที่ใช้ในการสกัดก็จำเป็นที่จะต้องร้อนเพียงพอ) สามารถที่จะสกัดเอาสารประกอบที่ละลายน้ำออกมาได้มากกว่า แล้วพอถึงจุดหนึ่งในการสกัด น้ำร้อนนี่เองที่จะทำหน้าที่ในการดึงเอาสารประกอบเหล่านั้นออกมาจากกาแฟจนหมด

Slow drip coffee

แต่การสกัดกาแฟโดยใช้หลักการไหลผ่านนี้ก็ยังคงมี (ความเสี่ยง) ความท้าทายอยู่ เนื่องจากส่วนใหญ่ การชงกาแฟที่ใช้หลักการนี้จะเป็นการชงแบบ home brewing หรือไม่ตามร้านกาแฟก็เป็น slow bar ซึ่งเป็นระบบแมนนวล ดังนั้นข้อผิดพลาดอันเกิดจากมนุษย์เองจึงพึงมี

หากในช่วงแรก ๆ ที่เราหัดชงกาแฟใหม่ ๆ ในที่นี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับการดริปกาแฟ เพราะเชื่อว่าเหล่าผู้หลงรักกาแฟน่าจะดริปกาแฟดื่มเองกันมาก หากลองได้ดริปกาแฟ จะรู้ดีว่ามีปัจจัยมากมายที่เป็นความท้าทายในการดริป (เราจะกล่าวถึงเฉพาะตอนที่เราลงน้ำ ทำให้เกิดการสกัดและการไหลผ่านเท่านั้น)

ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ การรู้จักควบคุมความเบาความแรงของการเทน้ำ หรือแม้แต่การเทน้ำลงบนกาแฟให้ทั่วถึง เหล่านี้ส่งผลต่อการสกัดกาแฟ และการไหลผ่านของน้ำด้วยกันทั้งสิ้น หากวิธีการของเราไม่ถูกต้อง สารประกอบบางอย่างในกาแฟของเราจะไม่ออกมา ในทางกลับกัน ที่จะออกมาจะเป็นรสและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์มากกว่า

เอสเพรสโซ

ในทางเทคนิคแล้ว กระบวนการในการสกัดเอสเพรสโซ จะใช้หลักการสกัดแบบไหลผ่าน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อแตกต่างจากการไหลผ่านแบบปกติอยู่มาก ดังนั้นจึงขอแยกออกมาเป็นหมวดหมู่ของตัวเองเลยน่าจะดีกว่า ที่สำคัญที่สุดคือ เอสเพรสโซเป็นเครื่องดื่มที่ถูกสกัดออกมาโดยใช้แรงดัน ดังนั้นหากบอกแค่นี้เราก็อาจจะบอกได้ว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตามที่มีปัจจัยเกี่ยวกับแรงดันมาเกี่ยวข้อง อยู่ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม และมีอุปกรณ์ที่เหมาะสม ก็สามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นเอสเพรสโซได้เหมือนกัน

ต่อ 1 เสิร์ฟของเอสเพรสโซโดยทั่วไปจะมีปริมาตรน้อยมาก เพียงแค่ประมาณ 20-40 มิลลิลิตร แน่นอนว่ามีความเข้มข้นมากกว่ากาแฟดริปและกาแฟฟิลเตอร์อื่น ๆ มาก ใช้เบอร์บดกาแฟที่ละเอียดมาก ๆ และมีเรื่องของแรงดันเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เอสเพรสโซสามารถที่จะถูกสกัดออกมาได้อย่างรวดเร็วและการสกัดที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาอยู่ที่เพียง 20-30 วินาทีเท่านั้น

และเหตุผลเหล่านี้เอง ทั้งเรื่องของอัตราส่วนในการชง ซึ่งแตกต่างจากกาแฟดริปปกติและกาแฟที่ใช้หลักการไหลผ่านอื่น ๆ และเรื่องแรงดันด้วย ทำให้สมควรที่จะให้เอสเพรสโซมีหมวดหมู่แยกเป็นของตัวเองเลย

และต่อไป เราจะมาคุยกันถึงเรื่อง ปัจจัยอื่น ๆ อีก ที่มีผลต่อการสกัดกาแฟของเรา

espresso

อัตราส่วนการชง

คำว่า อัตราว่วนการชง หรือ brew ratio คือ อัตราส่วนของกาแฟต่อน้ำ ที่เราใช้ในการชง อัตราส่วนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้แล้วแต่คน หากจะกล่าวถึงการชงกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟดริป หลายคนมักจะนิยมอัตราส่วนกาแฟต่อน้ำ อยู่ที่ประมาณ 1:15 ถึง 1:18 ยกตัวอย่างเช่น อัตราส่วน 1:15 หมายความว่า ในการชง 1 ครั้ง เราจะใช้กาแฟ 1 กรัมต่อน้ำ 15 มิลลิลิตร สมมุติเราใช้กาแฟ 20 กรัม เราจะใช้น้ำในการชง 300 มิลลิลิตร

มีสิ่งที่น่าสนใจกับเครื่องดื่มอย่างเอสเพรสโซ เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้มีการสกัดออกมาอย่างรวดเร็ว และการสกัดจะเป็นการรีดเอาความเข้มข้นของกาแฟออกมามากที่สุด ดังนั้นอัตราส่วนโดยประมาณกาแฟต่อน้ำจะอยู่ที่ 1:2 ซึ่งถือว่าเข้มข้นมาก ๆ

สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เราฝึกชงกาแฟ หากอยากให้สูตรการชงกาแฟของเราออกมานิ่งที่สุด สิ่งที่สำคัญคือ การใช้เครื่องชั่ง จะช่วยให้เราสามารถที่จะควบคุมอัตราส่วนของการชงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น แนะนำให้เป็นเครื่องชั่งดิจิตอลที่มีความแม่นยำสูง กันน้ำได้ และถ้าให้ดีมีแผ่นยางกันความร้อนด้วย หากคุณมีเครื่องชั่งดี ๆ ชีวิตของคุณจะง่ายและสะดวกสบายขึ้นเยอะ ก่อนที่จะชงกาแฟตามฟีลลิ่งอะไรแบบนั้น อย่างน้อยได้สูตรที่คงที่ก่อนน่าจะดี

เครื่อง Refractometer และค่า TDS

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่เกี่ยวข้องต่อการสกัดกาแฟของเราอย่างหนึ่งคือ สารประกอบละลายน้ำที่อยู่ในน้ำที่เราใช้ ซึ่งเราสามารถวัดค่านี้ได้ด้วยเครื่อง Refractometer สามารถที่จะวัดค่าน้ำตาลในน้ำได้ด้วย ด้วยหลักการวัดค่าจากการหักเหของแสง

เครื่อง Refractometer สามารถที่จะวัดการหักเหของแสง โดยจะวัดจากสารประกอบที่เป็นของแข็งที่ละลายน้ำได้ เรียกว่า ค่า TDS (Total Dissolved Solids) ยิ่งมีสารละลายที่เป็นของแข็งในน้ำมาก ทิศทางการหักเหของแสงก็จะเปลี่ยนไป นั่นทำให้ค่า TDS สูงขึ้นด้วย การสกัดกาแฟก็มีค่า TDS ที่กำหนดชัดเจน ว่าต้องเท่าไหร่อัตราการสกัดยิ่งสูง แต่ส่วนมาก ค่า TDS สูงยิ่งช่วยเพิ่มอัตราการสกัด แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย

ด้วยค่า TDS และอัตราส่วนกาแฟต่อน้ำที่เราใช้ในการชงกาแฟนี้ เป็นตัวที่พอจะกำหนดอัตราการสกัดกาแฟของเราได้ สองสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และเราจำเป็นต้องฝึกที่จะควบคุมปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้การชงกาแฟของเราออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น

Refractometer

ควบคุมการสกัดกาแฟในกระบวนการชง

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ จะส่งผลต่อการสกัดกาแฟของเราแล้ว ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องกรรมวิธีการชงกาแฟ ที่เราสามารถควบคุมอัตราการสกัดกาแฟของเราได้ หากฝึกและควบคุมได้อย่างดีแล้ว กาแฟที่ออกมาจะเป็นกาแฟที่ได้ดั่งใจเราที่สุด เทคนิคต่าง ๆ มีดังนี้

การรบกวนการสกัด

เราอาจจะรบกวนการสกัดได้ด้วยหลายวิธี ขอยกกตัวอย่างการดริปกาแฟ เราอาจจะเขย่าดริปเปอร์เล็กน้อย หรือใช้ช้อนคนกาแฟในขณะที่กำลังเกิดกระบวนการสกัด เหล่านี้มีผลต่อการสกัดกาแฟแน่นอน ไม่ใช่แค่การดริป แม้แต่วิธีการชงกาแฟที่เราต้องแช่กาแฟ การรบกวนการสกัดก็จะไปเพิ่มอัตราการสกัดเช่นกัน การเขย่าเล็กน้อย หรือการใช้ช้อนคนกาแฟจะทำให้กาแฟที่ลองอยู่บนผิวน้ำได้สัมผัสกับน้ำ และทำการสกัดได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้กาแฟที่เกาะกันเป็นก้อน หากเราลองใช้ช้อนคนดู ก็จะเกิดการสกัดอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการรบกวนการสกัด ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะเป็นการไปเพิ่มอัตราการสกัดกาแฟของเราได้แน่นอน

เติมน้ำลงไป

มีอีกเทคนิคหนึ่งที่มักใช้ คือการเติมน้ำลงไป ในตอนที่กาแฟของเราชงเสร็จเรียบร้อยแล้ว วิธีนี้เป็นวิธีการง่าย ๆ ในการเจือจางกาแฟของเรา หากอยากได้กาแฟที่ยังคงรสชาติของกาแฟแบบเต็ม ๆ แต่ไม่ชอบความรู้สึกหนืด ๆ ในปาก และบอดี้ที่มากมาย ให้ลองเติมน้ำลงไปเล็กน้อย วิธีนี้นอกจากจะไปลดบอดี้และความหนืดของตัวกาแฟแล้ว ยังไม่เป็นการไปกระทบต่อรสชาติ และอัตราส่วนการชงเดิม หรือแม้แต่อัตราการสกัดในตอนแรกด้วย

และเพื่อให้แน่ใจ หลายคนอาจลองใช้วิธีการเติมน้ำลงไปเพิ่มนี้ แล้วลองวัดค่า TDS ก่อนและหลังการเติมน้ำดู

Drip brewing

การลงน้ำเป็นช่วง ๆ

การลงน้ำเป็นช่วง ๆ หรือที่เรียกว่า pulsing เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง ที่เหล่าคนดริปกาแฟใช้กัน โดยจะค่อย ๆ ทำการเทน้ำเป็นช่วง ๆ ของการสกัดกาแฟ แต่ละช่วงก็จะเป็นการสกัดสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน จะควบคุมอัตราการสกัดมากน้อยขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเทน้ำเบาหรือแรงขนาดไหน และเทต่อเนื่องขนาดไหนด้วย แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้เริ่มต้น ดังนั้นการฝึกฝนจึงค่อนข้างสำคัญเลย

Pre-infusion (หรือที่เราเรียกกันว่า การ bloom)

กระบวนการ pre-infusion คือการที่เราเทน้ำลงบนกาแฟบดก่อนที่เราจะทำการสกัดจริง ๆ หรือที่เราเรียกว่า การ bloom นั่นแหละ โดยการทำแบบนี้จะทำให้กาแฟของเราเกิดการอิ่มตัว และเกิดการคายแก๊สอันเกิดจากกระบวนการคั่ว ปกติแล้วเราจะทำการ bloom กาแฟของเราก่อนชง ระยะเวลาอาจอยู่ในช่วง 30-60 วินาที หรืออาจมากกว่านั้นแล้วแต่คน

เช่นเดียวกับเทคนิคต่าง ๆ การ bloom นั้น จะทำให้เราสามารถที่จะสกัดกาแฟออกมาได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น และจะช่วยในการปรับปรุงคุณภาพการสกัดของเรา และทำให้เทคนิคการชงแบบต่าง ๆ นั้นชัดเจนมากขึ้นด้วย

เหล่านี้ที่กล่าวมานั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสกัดกาแฟของเราอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดและปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผล ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิของห้องที่เราใช้ชงกาแฟ อุณหภูมิน้ำที่เราใช้ กาแฟของเราคั่วมานานแค่ไหนแล้ว degassing หมดหรือยัง และอีกมากมายเลย

Barista brewing coffee method pour-over

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การรู้จักสังเกต และพยายามทำความเข้าใจกาแฟของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หากอยากลองควบคุมอัตราการสกัดกาแฟ การเข้าใจและมีข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ จากนั้น การหมั่งฝึกฝนเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย เพื่อให้เราสามารถชงกาแฟของเราออกมาได้ดั่งใจเรามากที่สุด และเราจะสามารถมีความสุขกับกาแฟของเราได้ สุดท้ายนี้ ขอให้คุณมีความสุขกับการดื่มกาแฟ ชงกาแฟ และเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟนะครับ