Coffee Variety: Ruiru 11 อนาคตใหม่ของ กาแฟเคนยา

ประเทศเคนยา เป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ผลิตกาแฟที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง กาแฟเคนยา นับว่าเป็นกาแฟที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งชื่นชอบกาแฟของประเทศ โดยเคนยานั้น มีการปลูก และการส่งออกกาแฟเรื่อยมา ช่วงที่มีการส่งออกมากที่สุด คือตั้งแต่ในช่วงปี 2020 ตามแรงงานขององค์กรกาแฟนานาชาติพบว่า เคนยาผลิตกาแฟได้มากถึง 775,000 กระสอบ ในตอนนั้นจึงทำให้ประเทศแห่งนี้ เป็นประเทศที่ปลูกกาแฟมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ในภูมิภาคแอฟริกา แต่ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ปริมาณการผลิตกาแฟของประเทศเคนยาก่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลบางประการ

กาแฟพันธุ์ที่ได้รับความนิยม และปลูกมากที่สุดในประเทศเคนยา ได้แก่กาแฟ SL-27 และกาแฟ SL-34 ซึ่งกาแฟเหล่านี้ เป็นกาแฟที่ได้รับการปลูกครั้งแรกภายในประเทศตั้งแต่เมื่อประมาณ 90 ปีที่แล้ว และถึงแม้ว่ากาแฟ SL จะเป็นกาแฟที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพค่อนข้างสูง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความอ่อนไหวต่อศัตรูพืชและโรคในกาแฟมากมาย ทำให้การปลูกกาแฟเหล่านี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ด้วยเหตุนี้เอง เกษตรกรจึงจำเป็นต้องหาพันธุ์กาแฟเข้ามาทดแทน กาแฟที่สามารถที่จะต้านทานโรค และทนต่อสภาพอากาศได้มากกว่า ดังนั้นในเคนยาจึงมีการพูดถึงกาแฟพันธุ์หนึ่ง กาแฟพันธุ์นั้นคือ Ruiru 11 ซึ่งนับว่าเป็นกาแฟ F1 Hybrid แคระ ที่คุณสมบัติที่โดดเด่นคือการให้ผลผลิตที่สูง อีกทั้งหากปลูกได้ในระดับที่เต็มที่ ยังสามารถที่จะมีความทนทานต่อแมลงและศัตรูพืช รวมถึงโรคในกาแฟด้วย อย่างน้อยก็ดีกว่ากาแฟ SL ที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้นกาแฟพันธุ์ Ruiru 11 จะเป็นกาแฟที่เข้ามากู้คืนวิกฤตกาแฟในเคนยาหรือไม่ คุณสมบัติโดดเด่นจะสู้กาแฟที่ปลูกกันอยู่แล้วได้หรือไม่ วันนี้เรามาทำความรู้จักกาแฟ Ruiru 11 กันให้มากขึ้น เผื่อว่าเราจะมีโอกาสได้เห็นกาแฟพันธุ์นี้มากขึ้นในอนาคต

Ruiru 11 Cherry

ต้นกำเนิดของ Ruiru 11

เช่นเดียวกับกาแฟพันธุ์ลูกผสมอื่น Ruiru 11 เป็น กาแฟเคนยา ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีความต้านทานต่อศัตรูพืชและโรคในกาแฟเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการระบาดของโรคในกาแฟ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1968 โรคในกาแฟเหล่านี้ทำลายผลผลิตกาแฟในเคนยาไปกว่าครึ่งหนึ่งในปีนั้นเลยทีเดียว

โรคในกาแฟนี้เราเรียกว่า Coffee Berry Disease (CBD) โรคที่ว่านี้เกิดขึ้นจากเชื้อราที่มีชื่อว่า Colletotrichum ซึ่งมันจะไปเปลี่ยนเชอร์รี่เป็นสีน้ำตาลหรือไม่ก็เป็นสีดำไปเลย นั่นทำให้ผลเชอร์รี่เกิดการเน่า และอาจมีการแห้งก่อนที่มันจะเป็น ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเป็นแบบนั้นผลผลิตของกาแฟก็จะคุณภาพต่ำลง

ดังนั้น เพื่อทำการต่อกรกับโรค CBD ทางสถานีกาแฟในภูมิภาค Ruiru จึงได้ทำการพัฒนา และเริ่มเพราะกาแฟพันธุ์ใหม่ ๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1970 แน่นอนว่ากาแฟพันธุ์ใหม่เหล่านี้ สร้างขึ้นให้มีความทนทานต่อโรคในกาแฟมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังพัฒนาให้กาแฟมีผลผลิตที่สูงมากกว่าเดิมด้วย

หนึ่งในพันธุ์กาแฟที่ได้มีการเพาะ นั่นคือกาแฟ Ruiru 11 นับว่าเป็นกาแฟไฮบริดแคระ ที่คุณสมบัติคือความต้านทานต่อโรค สามารถที่จะนำไปปลูกได้ในระดับความสูงที่มีความแตกต่างกัน มีการวิจัยจาก World Coffee Research พบว่า กาแฟพันธุ์นี้ เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยใช้พันธุกรรมจากกาแฟหลากหลายพันธุ์ ได้แก่ การใช้กาแฟพันธุ์แม่ Catimor กาแฟพันธุ์พ่อ K7, SL-28, N39 และ Sudan Rume

กาแฟพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือก นำพันธุกรรมมาใช้ในกาแฟ Ruiru 11 ส่วนใหญ่แล้วเนื่องจากคุณสมบัติความต้านทานต่อโรค CBD ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ยังมีความต้านทานต่อโรคสนิมในใบกาแฟ หรือ CLR ด้วยซึ่งเป็นโรคภายในต้นกาแฟที่มีความอันตรายมากด้วยเช่นกัน มันคือเชื้อราที่จะสามารถฆ่าต้นกาแฟไปได้เลย และนอกจากคุณสมบัติความต้านทานต่อโรคภายในกาแฟแล้ว ด้วยพันธุกรรมของกาแฟพันธุ์เหล่านี้ ทำให้ Ruiru 11 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นอีกอย่าง คือผลผลิตของกาแฟที่สูงมากขึ้น และคุณภาพของกาแฟที่ยอดเยี่ยมขึ้นด้วย

Ruiru 11 ถูกนำมาปลูกในครั้งแรก

เกษตรกรชาวเคนยา ได้รู้จักกาแฟ Ruiru 11 ครั้งแรกในช่วงปี 1985 ซึ่งการมาถึงของกาแฟพันธุ์นี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคส่วนกาแฟของประเทศเลยทีเดียว

แต่หากนำไปเทียบกับกาแฟพันธุ์อื่น ที่ปลูกอยู่ภายในประเทศเคนยา Ruiru 11 นับว่าเป็นกาแฟที่มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างช้ากว่า โดยทั่วไปแล้วจะให้ผลผลิตหลังจากที่ปลูกครั้งแรก ก็เป็นเวลา 2 ปีหลังจากนั้น แต่ก็มีข้อดีอย่างที่บอกคือ เนื่องจากเป็นพืชแคระ ดังนั้นจึงมีขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถที่จะเติบโตได้ในปริมาณที่สูง ในพื้นที่ที่มีจำกัดหรือมีขนาดเล็กกว่า

และเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่านี้เอง ทำให้ Ruiru 11 เป็นพืชที่ต้องการสารฆ่าเชื้อรา และต้องการปุ๋ยน้อยกว่ากาแฟพันธุ์อื่นที่ได้รับความนิยมในเคนยา นั่นหมายความว่า กาแฟจะปลูกได้ง่ายกว่ากาแฟพันธุ์ยอดนิยมอย่าง SL อีกทั้งต้นทุนในการปลูกก็น่าจะค่อนข้างต่ำกว่าด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ Ruiru 11 สามารถแพร่ขยายและเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการดูแลอย่างเต็มที่มากที่สุด การลงทุนทั้งเงิน และเวลาในการดูแล วิธีการปลูกหรือการขยายพันธุ์ยอดนิยม ที่ใช้กับกาแฟ Ruiru 11 จะเป็นวิธีการต่อกิ่ง ซึ่งจะทำการใช้กิ่งของกาแฟพันุ์หนึ่ง นำไปต่อกิ้งโดยตรงกับระบบรากของกาแฟอีกพันธุ์หนึ่ง สิ่งนี้จะช่วยลดระยะเวลาของผู้ผลิต ที่จะทำการปลูกและเพาะพันธุ์ Ruiru 11 ได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงง่ายต่อผู้ผลิต ที่สามารถใช้ระบบรากของต้นกาแฟเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้แปลงเป็นกาแฟพันธุ์นี้ได้แบบง่าย ๆ

แต่วิธีการที่ว่ามัน ยังคงเป็นแนวคิดและกรรมวิธีที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศเคนยา องค์ความรู้ในเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อย ดังนั้นอัตราการทำสำเร็จจึงแตกต่างออกไปตามระดับ และประสบการณ์ของทางผู้ผลิต นอกจากนี้ ด้วยวิธีการที่ว่ามานี้ ผู้ผลิตส่วนหนึ่งมองว่าเป็นกระบวนการและเรื่องที่มีความซับซ้อน (อันที่จริงมันก็ซับซ้อนจริงนั่นแหละ) ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือ และจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาผู้มีความรู้และผู้เชี่ยวชาญ

เกษตรกรจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะมาทำการต่อกิ่งกาแฟ Ruiru 11 นิยมที่จะปลูกกาแฟพันธุ์ Batian ก่อน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า กาแฟทั้งสองมีรหัสพันธุกรรมที่ค่อนข้างใกล้กันมาก แต่ปลูกง่ายกว่าเยอะ ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่า หากเรานำกิ่งของ Ruiru 11 มาปักลงบนรากของ Batian

ความนิยมของ Ruiru 11 ในประเทศเคนยา

อย่างที่บอกไปแล้วว่า การปลูก Ruiru 11 วิธีการที่ยอดนิยมและได้ผลมากที่สุด คือวิธีการต่อกิ่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยองค์ความรู้ และประสบการณ์ในระดับหนึ่งหากอยากจะให้กาแฟออกมาดี ดังนั้นบรรดาเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอยู่เดิมแล้ว หากจะนำ Ruiru 11 เข้ามาปลูกในไร่กาแฟ จึงมีเรื่องที่ต้องคิดมาก ไม่ใช่เพียงแค่ Ruiru 11 เท่านั้น แต่ยังรวมถึง Batian ที่จำเป็นต้องนำมาปลูกก่อนก่อนที่จะลงกิ่ง Ruiru 11

โดยปกติ การเก็บเกี่ยวกาแฟประจำปีที่สำคัญของเคนยานั้น จะเริ่มขึ้นประมาณตั้งแต่เดือนมีนาคม ยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม กาแฟ Batian เป็นกาแฟที่มีผลผลิตไม่แน่นอน หากปีนี้ผลผลิตของกาแฟสูง อาจเป็นไปได้ที่ในปีถัดไปผลผลิตอาจจะต่ำลงอย่างน่าเหลือเชื่อ ดังนั้นจึงไม่คุ้มกับการลงทุนของเกษตรกร

Ruiru 11 Variety

ยิ่งเป็น Ruiru 11 ยิ่งแล้วใหญ่เลย เนื่องจากวิธีการในการเพาะปลูก Ruiru 11 เป็นวิธีการที่ค่อนข้างใหม่อย่างที่บอกไป ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่รู้วิธีการปลูกอย่างถูกต้อง หรือไม่ก็ทำออกมาให้มีผลผลิตที่ดีมากขึ้น ดินควรเป็นอย่างไร หรือการดูแลรักษาเป็นอย่างไร

หากทำการเพาะปลูก และทำการดูแลให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ผู้ผลิตสามารถที่จะปลูก Ruiru 11 บนพื้นที่ต่อ 1 เฮกตาร์ ได้มากถึง 3,000 ต้นเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง

มองอีกมุมนึง กาแฟ Ruiru 11 เป็นกาแฟที่ถูกพัฒนาพันธุ์ในประเทศเคนยา ในเขต Ruiru ดังนั้นจึงนับว่าเป็น กาแฟเคนยา ขนานแท้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถที่จะหาดื่มที่อื่นได้ อีกมุมนึง กาแฟพันธุ์นี้ เป็นกาแฟที่ถูกคิดค้นโดยชาวเคนยาเอง ไม่เหมือนกาแฟหลายพันธุ์อื่นที่ปลูกในประเทศ ซึ่งเป็นกาแฟที่นำเข้าพันธุ์มาโดยชาวอาณานิคมเมื่อครั้งอดีต

แต่ในเรื่องของการจัดหาเมล็ดพันธุ์ของ Ruiru 11 จำเป็นที่ไร่กาแฟของเกษตรกร จะต้องผ่านการรับรอง และเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะต้องมาจากมูลนิธิวิจัยกาแฟในเคนยา อันที่จริงไม่ใช่เพียงแค่เมล็ดของ Ruiru 11 เพียงเท่านั้น แต่พันธุ์กาแฟอีกหลายพันธุ์ หากจะได้มาจำเป็นที่จะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรณ์นี้เสียก่อน ด้วยเหตุนี้เอง ถึงแม้จะมีความต้องการในตลาดมาก แต่ก็ไม่สามารถจะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยที่ว่ามานี้ ทางสถาบันจึงได้เปลี่ยน และแนะนำให้ประชาชนหันมาเพาะปลูกกาแฟพันธุ์ Batian ซึ่งมีมากกว่าและหาง่ายกว่า อย่างน้อยก็ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และถึงแม้ว่าเกษตรกรหลายราย ต้องการที่จะปลูก Ruiru 11 ตั้งแต่ต้นกล้านั้นก็ไม่ใช่หากันง่าย ๆ

ความท้าทายในการปลูก Ruiru 11

ถึงแม้ว่ากาแฟพันธุ์นี้ จะเป็นพันธุ์ที่ยอดเยี่ยม มีความต้านทานต่อโรคได้ อีกทั้งยังมีลักษณะแคระ ทำให้สามารถปลูกได้ในปริมาณมาก บนพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่เกษตรกรส่วนใหญ่นั้น เมื่อนำกาแฟไปปลูก ก็ไม่สามารถที่จะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยคุณภาพก็ไม่สามารถที่จะได้เท่ากับกาแฟพันธุ์ SL ที่เป็นที่นิยม นั่นทำให้ราคาของ Ruiru 11 ตกลงไปมาก

และด้วยความที่ใหม่ กับการมียีนส์ที่มีลักษณะคล้ายกับกาแฟหลายพันธุ์ นั่นทำให้รสชาติของกาแฟไม่ได้มีความโดดเด่นมากมายนัก หากเทียบกับกาแฟ SL ยอดนิยม นับว่ารสชาติมีความคล้ายกันมาก ไม่ได้มีความโดดเด่นไปในทางใดทางหนึ่ง และเป็นเอกลักษณ์มากมายนัก

และความท้าทายอีกประการที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะเป็นกาแฟที่มีความต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูพืชหลายชนิด แต่การจะสามารถปลูก Ruiru 11 ให้มีภูมิต้านทานเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี และแน่นอนว่าต้องใช้ต้นทุนที่สูงมากขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะดูแลได้ถึงขนาดนั้น ดังนั้นกาแฟเองจึงมีความอ่อนไหวต่อแมลงศัตรูพืช และโรคภัยบางชนิด ถึงแม้ว่าทางภาครัฐ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกาแฟจะมีการส่งเสริมและผลักดันเกษตรกร แต่ก็เพียงแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น

และในอีกแง่หนึ่ง เกษตรกรที่นำกาแฟ Ruiru 11 เข้ามาปลูกในไร่ มักจะปลูกควบคู่ไปกับกาแฟพันธุ์อื่น ซึ่งอาจมีความอ่อนแอกว่า และอ่อนไหวต่อแมลงศัตรูพืช รวมถึงโรคภัยมากกว่า นั่นทำให้โรคภัยและแมลงอาจแพร่กระจายไปสู่กาแฟ Ruiru 11 ได้ง่ายขึ้นในบางกรณีด้วย

และถึงแม้ว่าจะมีภูมิต้านทาน หากเราตัดเรื่องแมลงศัตรูพืช และเรื่องของโรคภายในกาแฟออกไป Ruiru 11 ยังมีปัญหาอยู่ คือกาแฟมีความอ่อนไหวต่อภาวะแล้ง ผลผลิตกาแฟจะได้สูงขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ได้รับอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัจจัยนี้เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นทุกปี หากลองมองจำนวนภัยแล้งที่เพิ่มขึ้นของเคนยา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ผู้ที่จะปลูก Ruiru 11 จำเป็นที่จะต้องมีแหล่งน้ำสำรอง เพื่อป้องกันในช่วงที่มีภาวะน้ำฝนต่ำกว่าที่คาดไว้ การที่จะทำให้ผลเชอร์รี่มีสุขภาพที่ดี จะต้องได้รับน้ำในปริมาณมาก ดังนั้นในไร่กาแฟจึงจำเป็นจะต้องมีระบบน้ำขนาดใหญ่ และแน่นอน สิ่งเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนที่สูงถึงจะทำได้

อนาคตของ Ruiru 11

ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาอยู่หลายประการ แต่กาแฟ Ruiru 11 ก็นับว่าเป็นกาแฟที่มีศักยภาพ มาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิตจำนวนมาก และยังเป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมากด้วย นั่นทำให้มีความเป็นไปได้สูง ที่เราอาจจะได้เห็นปริมาณการผลิตกาแฟพันธุ์นี้ เพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับว่า ทั้งประเทศเคนยาจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมสำหรับเกษตรกรได้มากน้อยขนาดไหน ทางมูลนิธิ รวมถึงสถาบันวิจัยกาแฟ จำเป็นที่จะต้องเพาะเมล็ดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ผลิตได้ในจำนวนมาก

ในปัจจุบัน ไร่กาแฟที่ได้มีการนำ Ruiru 11 เข้ามาปลูกในไร่ มากกว่าครึ่งหนึ่ง กาแฟได้รับการดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ และก็เห็นได้ชัดว่า ผลผลิตกาแฟดีขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้นในทุกปี แม้ว่าการดูแล หรือแม้แต่การนำเข้ามาปลูกนั้น จะค่อนข้างยากและมีความซับซ้อนอยู่ แต่หากสามารถปลูกได้ กาแฟพันธุ์นี้จะเป็นกาแฟที่มีประสิทธิภาพ และอาจเป็นกาแฟยุคใหม่ของเคนยาก็ได้

สิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟของเคนยา จำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ และเข้าถึงเกษตรกรชาวเคนยาให้ได้มากที่สุด หากเป็นแบบนั้นแล้ว การผลิต Ruiru 11 ก็จะเป็นไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน

Ruiru 11 Coffee

เราอาจกล่าวได้ว่า Ruiru 11 อาจจะกลายมาเป็นพันธุ์กาแฟแห่งอนาคตของเคนยาก็ได้ เนื่องจากคุณสมบัติในเรื่องความทนทานต่อโรคภัย และแมลงศัตรูพืช ซึ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากในอนาคต บวกกับความยืดหยุ่นที่จะมีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผลผลิตที่ได้ยังมีคุณภาพสูง เป็นกาแฟเป็นที่ต้องการในประเทศ และมีโอกาสที่จะผลักดัน ให้กลายมาเป็นพันธุ์กาแฟยอดนิยมในอนาคตได้ด้วย

ทางนักวิจัยและผู้ผลิตกาแฟหลายคนเชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป กาแฟได้มีการพัฒนาพันธุ์ตัวมันเองมากขึ้น มันจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพดิน และภูมิอากาศของประเทศเคนยาได้มากขึ้นทีละน้อย ทางทีมวิจัยก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถหารูปแบบการเพาะปลูก และทำความรู้จักกาแฟให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือ เรื่องของความต้องการที่มีมาก และการจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรได้มากพอ เนื่องจากในอุตสาหกรรม ยังคงมีกาแฟ Ruiru 11 อยู่ไม่มากเท่าที่ควร